มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปี “หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น”
01/07/2024กองบริหารงานทั่วไป ต้อนรับคณะดูงานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
05/07/2024เผยแพร่: 5
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
พัฒนาการเด็ก หรือพัฒนาการมนุษย์ คือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ เช่น มีความสามารถมากขึ้น มีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนขึ้น จากเด็กที่เดินได้ก็เป็นวิ่งได้ กระโดดได้ ตามลำดับ เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ และในส่วนของการเจริญเติบโตทางร่างกายนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ เช่น ตัวสูงขึ้น น้ำหนักมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งในส่วนของพัฒนาการนั้นก็ยังเชื่อมโยงกับส่วนของวุฒิภาวะด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของตัวบุคคล เพราะความสามารถบางอย่างถ้ายังไม่ถึงช่วงวัยก็ไม่สามารถทำความสามารถนั้นได้ แต่ในส่วนของการเจริญเติบโตของร่างกายจะไม่เกี่ยวข้องกับช่วงอายุ เช่น เด็กอายุ 3 ขวบสามารถจะมีน้ำหนักเท่ากับเด็กอายุ 5 ขวบได้ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาการเจริญเติบโต น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ มีภาวการขาดสารอาหาร ฯลฯ เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องของพัฒนาการตามมาด้วย ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรดูแลเด็กทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการควบคู่กันไป เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
การประเมินพัฒนาการในปัจจุบัน จะเน้นการประเมินทั้งหมด 4 ด้านหลัก ได้แก่
1.พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเดิน การวิ่ง การเคลื่อนที่
2.พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและการปรับตัว จะเกี่ยวข้องกับการใช้มือ การหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ
3.พัฒนาการทางด้านภาษา แบ่งออกเป็น “การเข้าใจภาษา” บางคนยังพูดไม่ได้แต่สามารถเข้าใจภาษาได้ เช่น เด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถพูดได้ แต่สามารถทำตามคำบอกของผู้ใหญ่ได้ และ “การแสดงออกทางด้านภาษา” คือสามารถพูดออกมา เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ หรือบอกความต้องการได้
4.การช่วยเหลือตนเองและสังคม เช่น เด็กสามารถใส่เสื้อเองได้ กินข้าวเองได้ ฯลฯ
ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ปัจจัยแรก ได้แก่ “กรรมพันธุ์” กลุ่มเด็กที่คลอดออกมาพร้อมภาวะความบกพร่องทางโครโมโซม กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม ออทิสติก สมาธิสั้น เป็นต้น ภาวะความบกพร่องเหล่านี้จะเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาเด็กแต่ละคนจะแสดงอาการที่ชัดเจนในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
ปัจจัยที่สองเกิดจาก “ภาวะความแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์หรือระหว่างคลอด” ซึ่งมารดาอาจได้รับสารพิษต่าง ๆ เช่น โลหะหนัก มลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย พ่อแม่ที่ใช้สารเสพติด รวมถึงเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ปัญหาด้านพัฒนาการได้เช่นกัน
และปัจจัยที่สาม “เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู” การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การเลี้ยงดูที่ทำให้เกิดภาวะความเครียด ภาวะอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่เด็กจะต้องเจอทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น การทารุณกรรม การใช้สารเสพติด หรือแม้แต่การใช้สื่อดิจิทัล ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กทั้งสิ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เราใช้แบบคัดกรองพัฒนาการที่เรียกว่า DENVER II เป็นแบบประเมินที่พัฒนามาจากต่างประเทศ ซึ่งทางสถาบันฯ ได้รับอนุญาตให้ปรับแบบประเมินให้เป็นภาษาไทย และปรับหัวข้อการประเมินให้สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่จะช่วยประเมินและคัดกรองพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้านหลัก ตามมาตรฐานของประเทศไทย นอกจาก DENVER II นอกจากนี้จะมีแบบประเมินคัดกรองพัฒนาการอีกชุดหนึ่งคือ คู่มือการเฝ้าระวังพัฒนาการเด็ก (DSPM) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ใช้แบบประเมินชุดนี้เช่นกัน
เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กร่วมกัน จากผลสำรวจพบว่า ปริมาณเด็กที่ประสบปัญหาด้านพัฒนาการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ส่งผลเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ขาดความมั่นใจในตนเอง ดังนั้นพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการด้านอื่น ๆ ด้วย ที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การดำรงอยู่ในสังคม ตลอดจนการประสบความสำเร็จในชีวิต เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จะทำให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพไปในอนาคต ส่งผลต่อระบบโครงสร้างของสังคมและโครงสร้างของประเทศในระยะยาว
ดังนั้น ครอบครัวควรศึกษาข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตบุตร-หลาน ให้มีพัฒนาการที่สมวัย หรืออาจเปรียบเทียบความสามารถของลูกเรากับเพื่อนในวัยเดียวกัน หากเกิดข้อแตกต่างหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการควรรีบปรึกษานักกิจกรรมบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่-ผู้ปกครอง คือต้องมีเวลาที่มีคุณภาพกับลูก ใช้การเล่นเป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการ ค้นหาความรู้เรื่องของการเลี้ยงดูเพิ่มเติมด้วย รวมถึงบทบาทของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ การที่ได้เล่นด้วยกันผู้ใหญ่ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการสื่อสารให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีสมวัยได้
เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป