เลี้ยงลูกแบบไหน “ไม่ขาด-ไม่เกิน และครอบครับไม่บกพร่อง”
17/05/2024มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 48 “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ”
29/05/2024เผยแพร่:
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
ประธานศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้คนตั้งแต่ในสมัยอดีต มีความสนใจในการบันทึกหลักธรรมคำสอน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ความรู้ศิลปะวิทยาการ ลงบนวัสดุต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง นับเป็นเอกสารสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ความรู้ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ประธานศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัย “การสำรวจและสำเนาเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาค ในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย” กล่าวว่า โครงการวิจัย “การสำรวจและสำเนาเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาค ในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย” โดยริเริ่มจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ราชบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง ราชบัณฑิตยสภา และที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ ที่มีความกังวลและห่วงใยต่อเอกสารตัวเขียนเหล่านี้ที่ประสบภัยถูกคุกคามในหลากหลายรูปแบบ เช่น การถูกทำลาย ถูกละเลยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ หรือนำเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์โดยไม่ได้นำมาศึกษาต่อ จึงเกิดโครงการวิจัย “การสำรวจและสำเนาเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาค ในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย” โดยเป็นความร่วมมือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 4 ภูมิภาค จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพหลัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกันทำโครงการวิจัยนี้ขึ้น เพื่อสำรวจเอกสารตัวเขียน 4 ภาคของไทย จัดทำทะเบียนและสำเนาดิจิทัล พัฒนารูปแบบแนวทางการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียนของชาติ อีกทั้ง พัฒนาบุคลากรในการอนุรักษ์และเก็บข้อมูลจากเอกสารตัวเขียน ทั้งนี้ ยังมุ่งหวังให้ประชาชนมีความสนใจ ตระหนัก และรักษามรดกภูมิปัญญาของประเทศไทย โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“เอกสารตัวเขียน” หมายถึง เอกสารที่มีการเขียนด้วยลายมือทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่บนสมุดไทย ใบลาน การเขียนบนไม้ไผ่ การเขียนบนผ้า หรือวัสดุอื่น ๆ ทางคณะผู้วิจัยจะไม่เรียกเอกสารเหล่านี้ว่าเอกสารโบราณ แต่จะเรียกเอกสารเหล่านี้ว่าเอกสารตัวเขียน เพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นร่วมสมัย ในแต่ละภูมิภาคมีรูปแบบ วิธีการบันทึก และวัสดุที่ใช้บันทึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหาได้เฉพาะพื้นที่นั้น ๆ การทำวิจัยในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำร่วมกันทั้ง 4 ภาค โดยมีการประชุมเพื่อปรับการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน มีการลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อให้เข้าใจมุมมองและวิธีการทำงานของแต่ละภูมิภาค ซึ่งผู้ร่วมวิจัยทุกท่านล้วนมีความเชี่ยวชาญในเอกสารตัวเขียนในพื้นที่ของตนเองอยู่แล้ว โดยเลือก “วัด” เป็นสถานที่ในการคัดเลือกเอกสาร ดำเนินการสำรวจวัดที่ไม่เป็นวัดดัง เน้นวัดที่ยังไม่ได้มีการสำรวจและยังไม่เคยมีเอกสารที่ทำดิจิทัลไฟล์ หรือเป็นวัดที่มีการสำรวจแล้วแต่ยังไม่ได้นำเอกสารมาทำดิจิทัลไฟล์ กำหนดให้มีเอกสารจำนวน 50 ผูก (ฉบับ/ เล่ม) ต่อหนึ่งวัด คัดเลือกวัดภาคละ 8 วัด จำนวน 4 ภาค รวมทั้งหมด 32 วัด และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีก 4 วัดเป็น 36 วัด สำหรับภาคใต้มีการเก็บข้อมูลของเอกสารตัวเขียนเพิ่มเติมจากในบ้าน และพิพิธภัณฑ์
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ ยังได้ร่วมลงสำรวจเอกสารในพื้นที่ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลจากชนกลุ่มน้อยมอญ และลาวโซ่ง และลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ค้นพบเอกสารตัวเขียนที่น่าสนใจอยู่หลายฉบับ อาทิ คัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนบนสมุดข่อยด้วยอักษรไทยและอักษรอาหรับ และการพบปะนักเขียนอักษรค็อต (อักษรศิลป์แบบมุสลิม) จึงได้พบเอกสารทั้งสมุดฝรั่งที่เป็นอักษรอาหรับ และสมุดไทยที่เป็นอักษรอาหรับและอักษรไทย ทำให้ได้ศึกษารูปแบบและวิธีการเขียนของเอกสารตัวเขียนได้หลากหลายและครบถ้วนมากขึ้น
จากการลงพื้นที่ของคณะนักวิจัยพบว่า เอกสารตัวเขียนส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำรายาและพระธรรมคำสอน เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ รองลงมาจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องบันเทิงในสมัยนั้น เช่น วรรณคดีนิทาน หรือ บทละครต่างๆ ทั้งยังค้นพบแนวทางเผยแพร่ผลงานด้วยวิธีการคัดลอกที่มีเอกลักษณ์ประจำยุคสมัย ยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านภาษาและประวัติศาสตร์ เมื่อรวบรวมเอกสารทั้งหมดแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์และคณะจะร่วมตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด เรียบเรียงให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเอกสารในโครงการวิจัยนี้ ได้ทำดิจิทัลไฟล์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีความร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเพื่อนำเอกสารดิจิทัลทั้งหมดเข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดการค้นหาที่ง่ายขึ้น ในเอกสารแต่ละฉบับจะมีบทคัดย่อเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใจเนื้อหาของเอกสารตัวเขียนฉบับนั้น สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินงานทางวิชาการต่อไปได้ และยังมีการจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ตามห้องสมุดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดทำเนื้อหาในบทปริวรรต พร้อมผลงานวิจัยและบทความที่น่าสนใจ
นอกจากการศึกษาเรื่องราวผ่านทางเอกสารตัวเขียนที่ค้นพบแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้เรียนรู้วิธีการบันทึกเอกสารตัวเขียนของทุกภาค ที่มีเทคนิค รูปแบบและอุปกรณ์เฉพาะที่หาได้จากพื้นถิ่นนั้น เช่น การทำกระดาษข่อยจากต้นข่อยที่จังหวัดนครสวรรค์ การทำกระดาษสาจากต้นปอสาที่จังหวัดเชียงใหม่ การทำคัมภีร์ใบลานที่วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ หรือแม้แต่อุปกรณ์การเขียน เช่น ไม้ฮันดาม ที่มีลักษณะคล้ายปากกาคอแร้งที่ชาวมุสลิมนำมาใช้ในการเขียนอักษรค็อต เป็นต้น สามารถต่อยอดเพื่อเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ เช่น การอนุรักษ์สายพันธุ์ต้นข่อย ต้นลาน ต้นสา หรือแม้แต่ต้นไม้ที่ไว้ทำอุปกรณ์ในการเขียน และการอนุรักษ์องค์ความรู้เพื่อให้มีผู้สืบทอด ปัจจุบันคนที่มีความรู้เรื่องการทำสมุด หรือการคัดอักษร ก็เหลือน้อยมาก
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทางศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการวิจัยการสำรวจและสำเนาเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาค ในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย ภายในงาน มีการนำเสนอบทความวิจัยจากทีมนักวิจัย มีการแสดงนิทรรศการและสาธิตเกี่ยวกับเอกสารตัวเขียน กิจกรรม Workshop กิจกรรมสาธิตบอร์ดเกมจากเอกสารตัวเขียน และได้ต่อยอดในการสร้างเครือข่ายอักษรศิลป์ รวมถึงการคัดอักษรแบบโบราณ การทำสมุดข่อย และใบลาน เพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและสืบทอดภูมิปัญญาต่อไป
เรียบเรียงบทความ โดย คุณวราภรณ์ น่วมอ่อน
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป