“ลูก” แค่ซุกซนตามวัย…หรือเป็น “โรคสมาธิสั้น”
01/03/2024
ยุติปัญหา “การฆ่าตัวตาย” ด้วยระบบการเฝ้าระวังและป้องกัน
15/03/2024
“ลูก” แค่ซุกซนตามวัย…หรือเป็น “โรคสมาธิสั้น”
01/03/2024
ยุติปัญหา “การฆ่าตัวตาย” ด้วยระบบการเฝ้าระวังและป้องกัน
15/03/2024

ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุค AI มาถึง

เผยแพร่: 8

รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล

สังคมแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) เกิดขึ้นในสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าคนกลุ่มใหญ่เริ่มเข้ามาสนใจในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ในช่วงที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือในช่วงของสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเทคโนโลยีมีการปรับตัวพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้นและความต้องการการใช้งาน เมื่อมีความจำเป็นมากขึ้น จึงเริ่มที่จะมีความสนใจในการพัฒนาและการใช้ Digital Platform มากขึ้น เพราะว่า Digital Platform จะมีประโยชน์ในส่วนของการลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการทำงาน ลดระยะทางในการเข้าถึงกิจกรรมบางอย่างให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยสังเกตได้ว่าในศาสตร์ต่าง ๆ จะเริ่มมีการใช้ Digital platform เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ดังนั้นหน่วยงานด้าน IT หรือคณะทางด้าน ICT จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานให้กับศาสตร์อื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านการกีฬา และด้านการเรียนการสอน เป็นต้น เรียกได้ว่าแทบทุกศาสตร์จะนำเทคโนโลยีด้าน IT เข้ามาเป็นพื้นฐานในการทำงานเป็นหลักอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในเชิงลึกมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละศาสตร์

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นการจำลองความฉลาดหรือปัญญาของมนุษย์ขึ้นมา เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกหรือแก้ปัญหาบางอย่างให้ดีขึ้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่า AI เป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว AI มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ประเภทที่ง่ายมากไปจนถึงยากมาก ๆ ที่ต้องใช้วิธีการหรือเครื่องมือที่ซับซ้อนในการประดิษฐ์ เพื่อนำมาทดแทนความฉลาดของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกดน้ำเมื่อก่อนต้องใช้คนขาย ปัจจุบันถูกพัฒนามาเป็นเครื่องขายน้ำอัตโนมัติที่สามารถหยิบน้ำได้ถูกประเภท ทอนเงินได้ถูกต้อง อันนี้คือตัวอย่างเทคโนโลยีที่ใช้แทนความฉลาดของมนุษย์ ในส่วนของ AI ที่ซับซ้อนขึ้นมา ในปัจจุบันเราจะคุ้นเคยกับคำว่า การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เป็นคำที่นิยมและถูกนำมาใช้ค่อนข้างแพร่หลาย AI ประเภทนี้ผู้พัฒนาต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้งและในหลายด้านในการประยุกต์ใช้ รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในเรื่องนั้นก็ต้องมีจำนวนที่มากพอทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบให้ประมวลผลได้ถูกต้องมากที่สุด ยกตัวอย่างการนำไปใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ โดยการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ภาพทางเชิงการแพทย์ (Medical Image) คือในสมัยก่อนเราจะใช้บุคลากรทางด้านการแพทย์ เป็นผู้อ่านผลและแปลผลการตรวจให้แก่ผู้ป่วย แต่ด้วยผู้ป่วยที่มีจำนวนมากจึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเคสของผู้ป่วยที่ต้องการการวินิจฉัย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น เราจึงใช้ AI เข้ามาจำลองความฉลาดของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น ด้วยการป้อนชุดข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อให้โปรแกรมวิเคราะห์และวินิจฉัยค้นหาความผิดปกติของโรคได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุน ลดเวลาการตรวจวินิจฉัย และช่วยเป็นเครื่องมือในการทำงานของแพทย์ให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มปริมาณผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้มากขึ้นภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีการนำ AI มาใช้ทดแทนมนุษย์ในกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การช่วยเหลือและสำรวจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบภัย เป็นต้น

ในขณะที่ AI กำลังเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของ AI คือเรื่องของความแม่นยำ การประมวลผลต้องมีข้อมูลชัดเจนสามารถมอ้างอิงได้ว่าข้อมูลมาจากส่วนใด เพื่อให้ผู้ตัดสินใจร่วมที่เป็นมนุษย์ได้เห็นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม AI เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกฝึกมาก็ยังสามารถมีข้อผิดพลาดได้เหมือนกับมนุษย์ แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังเหนือกว่า AI คือเรื่องของการตัดสินใจต่อยอด หากโปรแกรมไม่สามารถประมวลผลต่อยอดได้ตามความต้องการก็อาจจะสิ้นสุดการใช้งานไป ต่างกับมนุษย์ที่สามารถตัดสินใจต่อไปได้ ซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ AI นั้นขึ้นอยู่กับฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือนาที แต่ในอนาคตถ้าผู้พัฒนาสามารถผลิตฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ การประมวลผลก็จะเกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและอาจใช้เวลาน้อยลงหลายพันเท่า

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของยุคดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แต่จะช้าหรือเร็วนั้นก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในสังคมที่เข้ามากระตุ้น การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งานว่าต้องการนำไปใช้ในทางบวกหรือทางลบ การรู้เท่าทันเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตือนตนเองให้เกิดความระมัดระวังในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มี AI จำนวนมาก ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เช่น การหลอกโอนเงิน การยืนยันข้อมูลตัวตน ฯลฯ ต้องอย่าลืมว่ามีผู้ที่พัฒนาการป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ มิจฉาชีพเองก็สามารถพัฒนาการหลอกประชาชนด้วยวิธีอื่นต่อไปได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ใช้ต้องมีสติในการใช้งานและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด


เรียบเรียงบทความ โดย คุณศรัณย์ จุลวงษ์
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป