การแพทย์ทางเลือกแบบฝังเข็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย
28/04/2023
“ห้องสมุดดิจิทัล” ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับการศึกษา
12/05/2023
การแพทย์ทางเลือกแบบฝังเข็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย
28/04/2023
“ห้องสมุดดิจิทัล” ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับการศึกษา
12/05/2023

เทคโนโลยีและการพลิกผันสุขภาพ

เผยแพร่: 5

รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา
อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกด้านของชีวิต เราใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกในเกือบทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ที่มีอีเมลและแพลตฟอร์มเพื่อประชุมออนไลน์ การเดินทาง ที่มีเทคโนโลยีอย่างจีพีเอส และแอปพลิเคชันเพื่อเรียกรถหรือเพื่อส่งอาหาร หรือแม้กระทั่งในเรื่องความบันเทิง ที่เทคโนโลยีทำให้การดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หรือซื้อของ เป็นไปได้ทุกที่ทุกเวลา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างจากคนเมื่อเพียงไม่กี่ทศวรรษที่แล้วมากทีเดียว

บทบาทสำคัญอีกประการของเทคโนโลยีต่อความเป็นอยู่ของคนในยุคดิจิทัลนี้ คือ ด้านสุขภาพ เทคโนโลยีมีศักยภาพในการพลิกผันโฉมหน้าระบบสุขภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพ ประสิทธิภาพของการให้บริการและการรักษา และวิถีชีวิต ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ในท้ายที่สุดเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน และประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพตัวอย่างเช่น “ระบบแพทย์ทางไกล” (telemedicine) ที่เอื้อให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารด้วยระบบและเครื่องมือสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรง สามารถส่งภาพบาดแผล ภาพพืชหรือสัตว์ที่ทำให้เจ็บป่วย เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ว่าผู้ป่วยนั้นจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพียงใด ระบบแพทย์ทางไกลจึงช่วยลดข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นไปได้ง่าย สะดวกสบาย และประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2564-2565 กรมการแพทย์ได้นำระบบการแพทย์ทางไกล มาให้บริการแก่ผู้ป่วยในการตรวจรักษา วินิจฉัย และให้คำแนะนำ รวมถึงการส่งยาให้กับผู้ป่วยทางบ้านผ่านระบบไปรษณีย์ เพื่ออำนวยความสะดวกและขยายการใช้บริการแพทย์ทางไกลให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น1 และเกิดประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ต้องการการดูแลและติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การติดตามการรับประทานยาตามคำแนะนำ การดูแลสุขภาพ การส่งข้อมูลสัญญาณชีพ ตัวอย่างการใช้ระบบแพทย์ทางไกล ในการบริหารจัดการบริการสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โรงพยาบาลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่มีการใช้ระบบแพทย์ทางไกล ในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังจะต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลเพื่อล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ห่างจากโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่ากว่า 20 กิโลเมตร อีกทั้ง การเดินทางแต่ละครั้งยังต้องมีญาติหรือผู้ติดตามเดินทางมาด้วย ทำให้หลายครอบครัวต้องขาดรายได้ในวันนั้น การใช้ระบบแพทย์ทางไกล จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดภาระต่อผู้ป่วยและญาติ โดยการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับการล้างไตที่บ้านได้อย่างถูกต้อง ผ่านคำแนะนำและการติดตามของแพทย์ จึงช่วยลดความจำเป็นในการเดินทางมาโรงพยาบาลในแต่ละสัปดาห์

รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงการระบาดของโควิด 19 การใช้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการให้บริการของสถานบริการสุขภาพ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 หลายคนไม่ได้มีอาการรุนแรง จึงสามารถเลือกเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ได้ โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีช่องทางการติดต่อผ่านสายด่วน ไลน์ หรือสแกน QR code เพื่อลงทะเบียนเข้ารับการรักษาที่บ้านด้วยตนเอง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้หน่วยบริการเข้ามาดูแลเรื่องยา อาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการดูแลจากแพทย์จากทางไกล เพื่อช่วยวินิจฉัย และให้คำแนะนำในการรักษาได้ แนวทางนี้สามารถช่วยลดภาระในสถานบริการพยาบาลในช่วงที่มีการระบาดหนักได้อย่างดียิ่ง ทำให้มีทรัพยากรและบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และยังช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดเชื้ออีกด้วย

เทคโนโลยีมีศักยภาพในการพลิกผันสุขภาพของคนทั่วโลก ระบบแพทย์ทางไกล เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางสุขภาพ ในอนาคต เรื่องของการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพ การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีบทบาทในการคาดการณ์การเกิดโรคระบาด การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการรักษา และการให้บริการสุขภาพที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีการแพทย์จีโนมิกส์ ที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมที่จำเพาะต่อผู้ป่วยมาประกอบในการวินิจฉัย ซึ่งจะทำให้การรักษามีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ยังไม่นับรวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและนาฬิกาอัจฉริยะที่ช่วยติดตามสุขภาพของตนเองได้อย่างง่ายได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพของประชาชนต่อไป

อ้างอิง

“ระบบแพทย์ทางไกล” (DMS Telemedicine) การรักษาที่ไร้ข้อจำกัดทั้งเวลาและสถานที่” https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/18194/ สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566
สปสช.เยี่ยมชมการดูแลผู้ป่วยไต/ติดเตียง อ.บ่อเกลือ ลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมให้ผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล รองเลขาฯ ย้ำ. telemedicine เป็นเครื่องมือสำคัญ https://www.nhso.go.th/news/3882 สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566


เรียบเรียงบทความ โดย คุณสุทธิรัตน์ สวัสดิภาพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป