ในเวทีโลกยุคปัจจุบันที่ประเทศมหาอำนาจไม่ได้มาจากกองกำลังสู้รบ แต่มาจากศักยภาพทางเศรษฐกิจผนวกกับการสร้างเครือข่าย บนพื้นฐานอันแข็งแกร่งของการมีองค์ความรู้อันเป็นหัวใจของการพัฒนาสู่ประเทศอุตสาหกรรม
ซึ่งองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นต้นทุนที่เป็น “Hard power” ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และจะยิ่งทรงพลานุภาพหากได้สอดประสานด้วยพลัง “Soft power” ด้านศิลปะ-วัฒนธรรม-ดนตรีที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน ทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของสถาบันอุดมศึกษาในการสร้าง “ทุนมนุษย์” หรือผลิตบัณฑิตเพื่อสนองนโยบายชาติดังกล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในระดับแนวหน้าของประเทศที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก จากผลงานที่ผ่านมาล่าสุดที่มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลกในอันดับที่ดีขึ้น
โดยในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ (Life Sciences & Medicine) ล่าสุดมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถขึ้นไปถึงอันดับที่ 14 ของเอเชีย และอันดับที่ 118 ของโลก สาขาเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา (Pharmacy & Pharmacology) สามารถขึ้นไปถึงอันดับที่ 100 ของโลก สาขาพยาบาลศาสตร์ (Nursing) สามารถขึ้นไปถึงอันดับที่ 101 – 150 ของโลก
และสาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวขึ้นไปถึงอันดับที่ 47 ของโลกได้อย่างเหนือความคาดหมายในปีนี้
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เชื่อมั่นว่า ด้วยพลัง “Hard power” และ “Soft power” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างสมและผลักดันสู่การเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ มาจากบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมอย่างแท้จริง
เชื่อมั่นว่าในอีกไม่ช้า สาขาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลจะสามารถก้าวขึ้นสู่อันดับมหาวิทยาลัยโลกเพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นที่ยอมรับจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิได้เช่นเดียวกันอย่างแน่นอน ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแรงสนับสนุน และแรงใจจากประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมด้วย
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะด้วย “Hard power” หรือ “Soft power” มหาวิทยาลัยมหิดลจะพยายามทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้มั่นใจว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนจะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็น “ทุนมนุษย์” ซึ่งจะกลายเป็น “พลเมืองโลก” (Global Citizen) ที่มีคุณภาพ และมุ่งทำคุณประโยชน์เพื่อตอบแทนสังคมด้วยในขณะเดียวกันต่อไป
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงเหตุที่วิทยาลัยฯ สามารถก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 47 ของโลกได้เหนือความหมายจากที่ตนได้เคยประกาศไว้ว่าจะทำให้ได้อันดับ Top50 ของโลกภายในระยะเวลา 3 ปี เมื่อปีที่ผ่านมานั้น เกิดจากความมุ่งมั่นของวิทยาลัยฯ ที่มุ่งพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในเรื่องของคุณภาพการศึกษา ซึ่งขับเคลื่อนด้วยบุคลากรคุณภาพที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะด้วยความพยายามในการมุ่งพัฒนาหลักสูตรดนตรีจนทุกหลักสูตรของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานยุโรป “MusiQuE” หรือการจัดแสดงผลงานทางดนตรีที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
ก้าวต่อไป อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คงไม่หยุดอยู่เพียงแค่อันดับ Top50 แต่จะไปให้ถึง Top25 ของโลก โดยหวังให้ดนตรีเป็นพลัง Soft power ที่จะช่วยพัฒนาสุขภาพกายและใจของประชาชนชาวไทยให้พร้อมก้าวฝ่าฟันสู่เวทีโลกไปด้วยกัน
และในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จะได้มีการร่วมบูรณาการถอดบทเรียนและระดมสมองครั้งใหญ่ระหว่าง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายในระดับโลก เพื่อร่วมมองไปถึงจุดหมายข้างหน้าร่วมกัน ผ่านการร่วมวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนการวางแผนทิศทางการพัฒนา Soft power ร่วมกันต่อไป
สำหรับหนึ่งในกิจกรรมแสดงพลัง Soft power ได้แก่ การแสดงดนตรีโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Phil ที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ ภายใต้คอนเสิร์ต “Wagner Mozart & Elgar” วาทยกรโดย Jonathan Mann บรรเลงเดี่ยว (soloist) เปียโนโดย สัณห์ จิตตการ รอบวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 กำหนดแสดงเวลา 16.00 น. ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Thailand Philharmonic Orchestra
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210