มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” ประจำปี 2565 (MUSEF 2022) ภายใต้แนวคิด “Healthy Together ชุมชนเมืองสุขภาพดี”

มหาวิทยาลัยมหิดล หารือร่วมกับอำเภอพุทธมณฑล ในการพัฒนาโครงการบริการวิชาการสู่สังคม
16/09/2022
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา “MUSEF Webinar” หัวข้อ “ที่นี่เรามีตัวช่วย …. ผู้สูงวัยรู้เท่าทันสื่อ”
30/09/2022

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” ประจำปี 2565 (MUSEF 2022) ภายใต้แนวคิด “Healthy Together ชุมชนเมืองสุขภาพดี”

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” ประจำปี 2565 (MUSEF 2022) ภายใต้แนวคิด Healthy Together ชุมชนเมืองสุขภาพดี” และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงาน โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย ผู้นำชุมชนและผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในตำบลศาลายา และประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และรับชมการถ่ายทอดผ่าน Facebook Live: MUSEF Conference ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม: Local Actions for Global Impact” จากนั้น เป็นการเสวนาเรื่อง “สุขภาพเมือง: ความท้าทายและแนวทางการแก้ปัญหา” (Urban Health: Challenges and Potential Solutions) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมหานคร และ อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาคบ่าย มีการนำเสนอผลงานเชิงวิชาการรับใช้สังคมจากนักวิชาการและนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ณ ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย

– กิจกรรม Workshop จากกลุ่มนักวิชาการและนักวิจัย และกลุ่มผู้ทำงานภาคสังคม ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมชาติสำหรับคนพิการด้วยบอร์ดเกม”, “Inclusion for Impact ออกแบบกระบวนการทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วม” และ “วิวิธชาติพันธุ์: นิทรรศการมีชีวิตเพื่อสังคมพหุวัฒนธรรมนิยม”

– การนำเสนอผลงาน Oral Presentation เพื่อบอกเล่างานวิจัยที่ได้ถูกค้นคว้าจนพร้อมเป็น case study เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน การนำไปต่อยอด ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ในการนำไปขยายผล ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “10 ปี ของวิทยาเขตนครสวรรค์ในการมีส่วนร่วมพัฒนาบึงบอระเพ็ด”, “การพัฒนาทักษะการแปรงฟันเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของผู้บกพร่องทางการเห็น ด้วยสื่อการสอนประกอบภาพนูน”, “ภาวะเครียดที่ก่อให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกและการบริโภคแคลเซียมเสริมอย่างเพียงพอ”, “จากองค์ความรู้สู่การพัฒนากลยุทธ์ต้านโรคกุ้งตายด่วน”, “วัฒนธรรมองค์กรสุขภาพดีในรามาธิบดี” และ “กิจกรรมการดำเนินชีวิตรักษาคนดี”

– กิจกรรม Talk กิจกรรมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเมือง อาทิ “ดูแลสุขภาพปากและฟันของลูกรัก” , “ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคฮิตคนทำงาน: office syndrome” , “ยุงร้าย : ภัยคนเมือง” และ “Urban citizenship for inclusive & sustainable cities: เมืองสำหรับทุกคน”

– การจัดแสดงนิทรรศการผลงานบริการวิชาการเพื่อสังคม (Poster Presentation) ในหมวดต่าง ๆ ได้แก่ หมวดสุขภาพ หมวดผู้สูงอายุ หมวดเด็กและเยาวชน หมวดวัฒนธรรม หมวด Inclusiveness หมวดบริการชุมชน หมวดสิ่งแวดล้อม และ หมวดเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” (Mahidol University Social Engagement Forum 2022 – MUSEF 2022) ขึ้น โดยมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย และประชาชนผู้สนใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานทางวิชาการหรือผลงานวิจัยจากคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่การใช้ประโยชน์ และนำไปสู่นโยบายชี้นำสังคมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันเชิงนโยบายในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม งาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม” จึงเป็นเวทีแห่งความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลกับภาคประชาสังคม เพื่อสานต่อผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศ และ เพื่อร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนหรือผลักดันงานวิจัยไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาประเทศได้อย่างยั่งยืน