วิศวะฯ มหิดลกาญจน์ บูรณาการศาสตร์วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ วางแผนร่วมแก้ไขปัญหาขยะร่วมกับชุมชน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี
11/11/2022
ผู้สูงวัยยุค Aging Society กับบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาเด็กไทย
14/11/2022

ม.มหิดล พัฒนาหลักสูตรพร้อมรับตลาดธุรกิจ Global Wellness

เผยแพร่: 

ปี 2022 – 2023 คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งทุกคนน่าจะมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิต New Normal ได้แล้ว ซึ่งคาดว่าผู้คนจะหันกลับมาสนใจการดูแลรักษาสุขภาพในเชิงป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค (Preventive) มากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ต่อยอดและเชื่อมโยงหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ

จากการศึกษาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า 78% ของคนใน 48 ประเทศทั่วโลก มีความต้องการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดย Krungthai Compass คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2027 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ Medical Tourism ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่ามากกว่า 1.02 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยหลักที่ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของไทยมีมาตรฐานระดับโลก 2) สถานพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานสากล JCI (Joint Commission International) จำนวน 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก 3) ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ การรักษา และค่าครองชีพในระยะพักฟื้นของผู้ป่วยและญาติไม่สูงมากนัก 4) คนไทยมีหัวใจบริการและมีความเป็นมิตรสูง

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ในฐานะสถาบันการศึกษาผู้ผลิตและให้การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับแห่งหนึ่งในระดับประเทศและนานาชาติ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคลให้สามารถรองรับการเติบโตของตลาดธุรกิจ Global Wellness และร่วมพัฒนาประเทศเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่การเป็น Medical Hub ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้จัดทำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development ที่บูรณาการร่วมกันจัดการเรียนการสอนภายใต้ 7 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน สถาบันวิจัยประชากร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน และบัณฑิตวิทยาลัย โดยกำลังขยายความร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อให้ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านสังคม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “Global Wellness Economy Trend กำลังเป็นเทรนด์การทำธุรกิจแนวใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในช่วง Post COVID-19 ที่คาดว่าคนจะหันมาใส่ใจในการรักษาสุขภาพแบบ Preventive มากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์หลากหลายด้านจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพและธุรกิจด้าน Wellness ให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จึงจัดทำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development ที่บูรณาการศาสตร์วิชาหลากหลายสาขามารวมไว้ เพื่อพัฒนานักวิจัยและนักบริหารที่มุ่งเน้นไปยังด้านใดด้านหนึ่งที่ตอบโจทย์สุขภาพโลก (Global Health) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก รวมถึง Global Wellness Economy ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับ James Cook University ประเทศออสเตรเลีย โดยจะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ James Cook University ประเทศออสเตรเลียในโครงการ Co-tutelle โดยจะได้รับ Dual Degree จากสองสถาบัน ทั้งนี้ จะมีการจัดการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาด้วยการร่วมฝึกปฏิบัติงานจริงกับองค์กรด้านสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษาอีกด้วย”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล 02-441-9040-3 ต่อ 62 หรือ https://aihd.mahidol.ac.th/main/AIHD_TH/PHD_Contact.php


เรียบเรียงบทความโดย กณิศอันน์ มโนพิโมกษ์

ให้คะแนน
PR
PR