“กิจกรรมทางกาย….เพื่อสุขภาพที่ดี”
10/11/2022
วิศวะฯ มหิดลกาญจน์ บูรณาการศาสตร์วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ วางแผนร่วมแก้ไขปัญหาขยะร่วมกับชุมชน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี
11/11/2022

การเลี้ยงสัตว์ที่จะไม่เป็นปัญหาของสังคม

เผยแพร่: 

อาจารย์ ดร. น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม ผช.คณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย หรือส่งต่อเพื่อหาบ้านใหม่ เกิดได้จากเหตุผลและความจำเป็นของผู้เลี้ยงเอง เช่น มีความจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราวหรือถาวร บางครอบครัวมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มขึ้น จึงเกิดความกังวลที่จะเลี้ยงสัตว์ต่อ หรือมีความกลัวจากโรคต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์
แม้กระทั่งการตัดสินใจเลี้ยงโดยไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของเขาในแต่ละช่วงวัย ว่าเขาโตขึ้นจะมีหน้าตา นิสัย และพฤติกรรมอย่างไร มีอายุขัยโดยเฉลี่ยเท่าไหร่ แต่เลือกเลี้ยงจากความน่ารัก เมื่อเขาโตขึ้น อาจจะไม่ได้น่ารักเท่าตอนยังเล็ก หรือเลือกเลี้ยงเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอยู่ในขณะนั้น
และอีกสาเหตุหนึ่ง เกิดจากพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง โดยงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า สาเหตุหลักที่เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงส่วนมากคือสุนัข ไปปล่อยหรือส่งต่อยังสถานสงเคราะห์ มักมาจากปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ที่เจ้าของมองว่า เกินที่จะรับมือ ส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์เลี้ยงจนอาจทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
ผู้เลี้ยงหลายคนแก้ปัญหาด้วยการหาบ้านใหม่ เป็นคนรู้จักที่มีความสามารถในการรับเลี้ยงได้และมีความคุ้นเคยระดับหนึ่งกับสัตว์เลี้ยงของเรา และก่อนตัดสินใจย้ายบ้านให้สัตว์เลี้ยง ต้องดูพฤติกรรมพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงของเราว่าเขาจะสามารถอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ได้หรือไม่ เช่น หากสุนัขมีพฤติกรรมชอบขุดดิน เขาจะไปอยู่ร่วมกับบ้านที่มีการจัดสวนสวยงามได้ยาก จึงต้องเลือกให้เหมาะสม แต่ผู้เลี้ยงบางคน เลือกที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยตามสถานที่ต่างๆ แทน
แต่เดิมเขาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านมาก่อน เมื่อถูกนำมาปล่อย ก็ไม่มีใครดูแลอาหารการกิน ไม่มีใครดูแลโรคภัย ไม่มีการควบคุมประชากร การเอาไปปล่อยตามสถานที่ต่างๆ ทำได้ง่ายเพราะไม่มีกฎหมายที่ควบคุม จึงเป็นปัญหาหลักของปัญหาสุนัขจรจัดและแมวจรจัดที่มีจำนวนมากขึ้น และกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ การบรรเทาปัญหานี้ ผู้ที่มีจิตใจรักสัตว์หลายคนก็รับเลี้ยงสุนัขจรจัดหรือแมวจรจัดเอง หรือการมีสถานสงเคราะห์สัตว์ หรือ shelter ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ และเอกชน หลายแห่งมีการรณรงค์ในการหาบ้านใหม่ด้วย แต่วัตถุประสงค์ของแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน โดยให้ความสำคัญมากกับการทำอย่างไรให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ถูกรับไปเลี้ยงมากขึ้น มีการทดสอบพฤติกรรมให้เหมาะกับบ้านใหม่

สำหรับ shelter ในต่างประเทศ ก็มีภารกิจหลักข้อหนึ่งคือ การหาบ้านใหม่ให้กับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นการบรรเทาปัญหาที่ปลายทาง อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้สุนัขเหล่านี้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม มีที่อยู่เป็นสัดส่วน มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของใหม่ ถ้าเทียบกับสุนัขที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ โดยมีการศึกษาพบว่าสุนัขในสถานสงเคราะห์ มักเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมที่หากไม่ได้มีการจัดการที่เหมาะสม เช่น สุนัขถูกแยกออกจากสังคมสุนัขตัวอื่นหรือจากคน หรือถูกจับรวมกับสุนัขตัวอื่นที่ไม่ถูกกัน ก็จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เป็นอย่างมาก

ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงถูกนำไปปล่อยลดน้อยลง ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนของเรา อย่างน้อยเขาจะอยู่กับเราเป็นหลักปี หรือเป็นสิบปี เราพร้อมจะดูแลไปตลอดหรือไม่ เราสามารถประเมินตนเองว่าพร้อมที่จะเลี้ยงสัตว์ได้ เริ่มจากการศึกษาข้อมูลโดยลงไปถึงระดับสายพันธุ์ เพื่อให้เข้าใจนิสัยและพฤติกรรม มีลักษณะทางกายภาพ และความต้องการอย่างไรในแต่ละช่วงอายุ มีหน้าตาอย่างไร เช่น หากเราต้องการเลี้ยงสุนัขพันธุ์บางแก้ว ก็ควรจะศึกษาลักษณะนิสัยและพฤติกรรมโดยพื้นฐานของบางแก้วก่อนเลี้ยง
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องเข้าใจว่าแม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน สัตว์แต่ละตัวก็จะมีลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกันได้ มีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงชนิดนั้นๆ ว่าต้องการอะไร ถ้าเลี้ยงแมว ก็จะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น อย่างกระบะทราย ของเล่น คอนโด ถัดไปคือ โรคภัยไข้เจ็บของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะโรคที่มีโอกาสจะเป็นได้หรือโรคประจำตัว
ผู้เลี้ยงควรทำความเข้าใจในเรื่องการรักษาและการดูแล แล้วประเมินว่าตนเองสามารถรับมือได้หรือไม่ เช่น หากเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่บางสายพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้น มีความเสี่ยงเกี่ยวกับสะโพก หรือไขสันหลัง ผู้เลี้ยงอาจจะต้องมีการดูแลที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ องค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา สถานที่เลี้ยงที่สะอาด ปลอดภัย และเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง
การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงที่เราสนใจ ยังสามารถใช้ได้กับผู้เลี้ยงที่มีความสนใจในการเลี้ยงสัตว์พิเศษ แต่ต้องให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องโรคจากสัตว์สู่คนเพิ่มเติมด้วย เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี เมื่อได้ศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจและผู้เลี้ยงจะต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการเลี้ยงในระยะยาวด้วย หากยังไม่สามารถวางแผนหรือคาดเดาในอนาคตได้ อาจจะเลือกเลี้ยงสัตว์ที่มีการจัดการน้อยกว่า หรือสามารถพาย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งการประเมินตนเองนี้ ยังใช้ได้กับความต้องการในการรับเลี้ยงสุนัขจรจัดหรือแมวจรจัดมาเลี้ยง ไม่ควรคิดบนพื้นฐานความสงสาร แล้วรับเลี้ยงจำนวนมาก แต่ต้องดูให้เหมาะสม เพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ผู้เลี้ยงจะต้องตระหนักว่า เมื่อเรานำเขามาเลี้ยงแล้ว เขาต้องได้รับความต้องการพื้นฐานระดับแรกสุด ได้แก่ มีอาหารที่เหมาะสม น้ำดื่ม ได้รับการป้องกันรักษาโรคอย่างเหมาะสม มีที่พักอาศัยที่สะอาดและไม่แออัดจนเกินไป พอขั้นถัดไปคือการได้รับความปลอดภัย และยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้ เล่นกับคนได้ ได้รับความรักเอาใจใส่ ได้ท้าทายให้ตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน ผู้เลี้ยงที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยความรัก ความใส่ใจ และความรับผิดชอบที่มากพอ
การเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม ก็ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหาแก่ตัวผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยง

นอกจากนี้ ความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงที่มีต่อเพื่อนบ้าน และชุมชน ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากการเลี้ยงของเราสามารถส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรตระหนักในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่บ้านตัวเอง หรือรอบๆ บ้าน เช่น การเก็บอุจจาระของสัตว์เลี้ยง หรือการทิ้งทรายแมว ก็ควรจะจัดการแยกทิ้งให้เป็นระบบเพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นรบกวน
ปัญหาสุนัขส่งเสียงเห่ามากเกินไปจนรบกวนผู้อื่น ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการเห่าได้ เช่น มีสุนัขที่มีขนาดใหญ่กว่าอยู่ในละแวกเดียวกัน เจ้าของก็ต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้เห็น เพื่อจะลดการส่งเสียงเห่า และควรนำสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินและวางแผนการรักษาต่อไป อีกข้อที่สำคัญคือการดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้ออกนอกบ้านโดยไม่มีเจ้าของควบคุม ซึ่งอาจทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ถูกรถชนหรือไปกัดกับสัตว์ตัวอื่น หรือทำร้ายมนุษย์ได้
เจ้าของควรดูแลและมีความรอบคอบในการเปิดปิดประตู หรือทางเข้าออกที่สัตว์เลี้ยงสามารถออกมาได้โดยง่าย หากเจ้าของพาออกมาเดินเล่น ก็ควรใช้สายจูง หรือใส่รถเข็น เพื่อช่วยควบคุมการเดินหรือพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง และยังเป็นประโยชน์ในแง่การรักษาความปลอดภัยให้แก่สัตว์เลี้ยงเองอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า การดูแลสิ่งมีชีวิตหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว มีความผูกพันที่เขาจะมีให้กับเรา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีผลต่อชีวิตของเขาได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข


เรียบเรียงบทความโดย วราภรณ์ น่วมอ่อน

ให้คะแนน
PR
PR