แม้วิกฤติ COVID-19 จะทำให้ “แลนด์มาร์ค” (landmark) หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจหลายจุดในประเทศไทยต้องหลับใหลงดเปิดให้บริการเยี่ยมชม แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ทำให้ระยะทาง เวลา หรืออุปสรรคใดๆ มาคอยขวางกั้น “ห้องเรียนธรรมชาติ” จากสมุนไพรนานาชนิด สู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด
นับเป็นครั้งแรกของ “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” แห่งโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งใน “แลนด์มาร์ค” ที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม ที่จะได้ “ย่อโลก” สมุนไพรนานาชนิด และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่ 140 ไร่ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ”ปัญญาของแผ่นดิน” เข้าสู่ “โลกแห่งเมตาเวิร์ส” เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดในโลกเสมือนจริง
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับกองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SIET) มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำ “VR TOUR” (Virtual Tour) พาชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาแบบ 360 องศา
โดยเป็นการพาเที่ยวใน “โลกเสมือนจริง” เพื่อทดแทนในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ต้องปิดทำการตามประกาศของสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อปรับปรุงพื้นที่เตรียมพร้อมเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยจะได้มีการเพิ่มจุดเยี่ยมชมภายในอุทยานฯ ให้ตอบโจทย์โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดในปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น
แม้ที่ผ่านมา อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะอยู่ระหว่างการปิดให้บริการสำหรับบุคคลภายนอก แต่ได้มีการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำ “VR TOUR 360 องศา” ดูแลการผลิตโดย กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับในหัวข้อ “ลานนานาสมุนไพร” ออกแบบโดยนักศึกษา SIET มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 11 ราย ได้แก่ นายศุภกร พิมพ์แดง นางสาวกมลพร ตรียกูล นางสาวชญานิศ สิรินันทสกุล นางสาวณัฐสุดา ตันติวิชาญ นางสาวญาณิศา ประสพผลสุจริต นางสาวกรณิกา สร้อยพุดตาน นางสาวปารย์เพชร เพชรอินทร์ นางสาวอภิชญา สีทา นางสาวณัฐรัมภา มากมณี นางสาวณิชาพร สืบเผ่าดี และ นางสาวพรพิชชา ศรีบุรี
กลุ่มนักศึกษา SIET มหาวิทยาลัยมหิดล ดังกล่าว ได้ทุ่มเทนำเสนอพรรณไม้สมุนไพร 18 ชนิดภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งควรค่าแก่การศึกษา ผ่านภาพถ่ายสมุนไพรน่ารู้ที่แสดงชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อวงศ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งได้แสดงสรรพคุณของสมุนไพรไว้ด้วยอย่างครบครัน
อาทิ กระดังงาไทย ผักเชียงดา กระแจะ พะยอม กำแพงเจ็ดชั้น อุโลก อัญชันต้น ประยงค์ ปรู๋ ชิงชี่ เปล้าใหญ่ ตีนนก ชุมเห็ดเทศ ขลู่ ระย่อนน้อย พฤกษ์ สำรองกะโหลก และพลับพลึง
สิ่งที่ผู้เข้าชม “VR TOUR 360 องศา” อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะได้สัมผัสนอกจากความรู้ที่จะได้จากการเยี่ยมชมสมุนไพรภายในอุทยานฯ แล้ว ยังจะได้ดื่มด่ำไปกับความงามของวิวทิวทัศน์ที่จะทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกประทับใจ เหมือนได้เดินเข้าไปสัมผัสในโลกจริงด้วยตัวเองแบบ 360 องศา ร่วมนำเสนอโดย นายเฉลิมพล ภูวัชร์อดิสิฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา งานพัฒนาสื่อผสม กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่ง “VR TOUR 360 องศา” จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับผู้มาเยือนพื้นที่จริงในวันที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะกลับมาเปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปอย่างเต็มรูปแบบประมาณต้นปีหน้า โดยนับเป็น”นวัตกรรมทางการศึกษา” ที่นักศึกษาผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถนำไปใช้เป็น Portfolio หรือ แฟ้มผลงาน เพื่อขยายผลทางการศึกษา และนำไปประกอบวิชาชีพผลิตสื่อทางการศึกษาต่อไปได้อีกด้วย
โดย อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ในรูปโฉมใหม่ ออกแบบตามแนวคิดหลักเพื่อเป็น”ห้องเรียนต้นแบบ” สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติอย่างครบวงจร โดยจะได้มีการเปิดทดลองให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมในพื้นที่จริงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในช่วง 2 สัปดาห์หลัง “วันแม่แห่งชาติ” ติดตามได้ทาง Facebook : Sireepark
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพและแบนเนอร์โดย จักรพล คนเที่ยง นักวิชาการสารสนเทศ งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล