ม.มหิดล พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ สนับสนุนงานวิจัยยกระดับเศรษฐกิจชาติ
07/02/2023
ม.มหิดล สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการสอนผลิตจักษุแพทย์คุณภาพ
07/02/2023

ม.มหิดล เผยความลับทางธรรมชาติของ “เห็บ” สู่การวิจัยยับยั้งโรคอุบัติใหม่

“เห็บ” เป็นสัตว์ที่อาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นแหล่งอาหาร โดยดูดกินเลือด และก่อโรคได้ทั้งในสัตว์และคน ตลอดจนมาพร้อมกับความสามารถในการขยายพันธุ์ที่อาจซ่อนไว้ซึ่ง “ความลับทางธรรมชาติ” ที่รอคอยการค้นพบในด้านการเยียวยา

รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยผู้บุกเบิกของประเทศไทยในการศึกษาวิจัยเห็บมานานกว่าทศวรรษ

“เห็บตัวเมียหนึ่งตัวสามารถออกลูกได้ถึงหลักพัน โดยแต่ละตัวมีวงจรชีวิตที่ยาวนาน เนื่องจากเป็นปรสิตที่ทนต่อสภาพกันดาร มีชีวิตหล่อเลี้ยงด้วยเลือดสัตว์ที่อยู่อาศัยในทุกระยะของวงจรชีวิต จากไข่ ฟักเป็นตัวอ่อน สู่ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย โดยทั้งวงจรชีวิตอาจใช้เวลานานมากถึง 5 ปี” รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก กล่าว

บ่อยครั้งเมื่อกลับจากการเดินป่า หลายคนมักมีอาการไข้ และผื่นแดงตามตัว หากนำเลือดไปตรวจส่วนใหญ่มักพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Rickettsia ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะก่อโรค

นอกจากนี้ที่ผ่านมายังพบ “ไข้คิว” (Q Fever) โดยมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Coxiella burnetii ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะก่อโรคเช่นกัน หากเกิดในปศุสัตว์ อาจส่งผลให้สัตว์ที่กำลังตั้งท้องตกลูกเสียชีวิตได้ยกครอก และอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และการทำงานของหัวใจในคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้

การค้นพบครั้งแรกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก ด้วยวิธี  PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการวิจัยสารพันธุกรรมในหลอดทดลองเพื่อดูการทำปฏิกิริยา และศึกษาลำดับเบส ได้นำไปสู่การค้นพบเชื้อแบคทีเรีย Coxiella Francisella ซึ่งเป็นเพียง “แบคทีเรียร่วมอาศัย” อยู่ในเห็บ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาบทบาทซึ่งอาจต่อยอดสู่การวิจัยเพื่อการยับยั้งและเยียวยาโรคอุบัติซ้ำ และโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ และมนุษย์ได้ต่อไปในอนาคต

ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาของเห็บ (Tick biology) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำถึงประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ได้เป็นชื่อแรก หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author) ของผลงาน (Q1) และยังคงมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเพื่อดูการติดเชื้อต่างๆ ที่มาจากเห็บ ซึ่งครอบคลุมแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว ฯลฯ เพื่อทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่หนทางรอดของมวลมนุษยชาติต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ให้คะแนน
PR
PR