ม.มหิดล ฉีกแนวบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ เสริมฐานทักษะผู้ประกอบการให้นักศึกษาผ่านโครงการ “Plantbiz” บูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชสู่เชิงพาณิชย์
07/11/2022
ม.มหิดล พร้อมผลิต “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ป.โทพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุมาตรฐานคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ
07/11/2022

ม.มหิดล วิจัยทบทวนปลดล็อกใช้ซ้ำขวดพลาสติกใส

ปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่มตลอดจนเครื่องดื่มต่างๆ ที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม(soft drink) ที่ถูกทิ้งปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของการนำกลับมาใช้ซ้ำในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวนกว่า2,000 ราย พบว่า แม้ในปัจจุบันได้มีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดโลกร้อนกันอย่างแพร่หลายแต่ก็ยังคงพบว่ามีการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารโดยตรงแบบแยกย่อยเป็นถุงเล็กถุงน้อย

รวมทั้งแก้วพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มเย็น ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะได้มากกว่าประเทศอื่นที่ส่วนใหญ่นิยมใช้บรรจุเป็นแพคเกจรวมสำหรับ 1 มื้อต่อผู้บริโภค 1 คน

นอกจากนี้ เมื่อได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการนำขวดพลาสติกใสชนิด Polyethylene Terephthalate (PET) กลับมาใช้ซ้ำแบบ reuse ของคนไทยนั้น พบว่าในจำนวนผู้นำมาใช้ซ้ำกว่าร้อยละ 50 นำไปใช้บรรจุอย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำดื่ม หรืออาหาร เช่น ประมาณเกือบร้อยละ 50 ของการใช้ซ้ำนำไปใส่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า) สารเคมีทางการเกษตรเกือบร้อยละ 10 (เช่น น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้) และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและดูแลร่างกาย (ได้แก่ สบู่เหลว แชมพู)

ส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลเครื่องยนต์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำยาล้างรถ พบว่ามีการนำขวดใสไปเติมเก็บไว้ใช้บ้างแต่ไม่มาก จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย หาก rPET (recycled Polyethylene Terephthalate) ได้รับการปลดล็อกให้นำกลับมาใช้ซ้ำในฐานะบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง

เพื่อสนองรับนโยบาย BCG ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและมูลค่าสูงสุดอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล จึงรับหน้าที่ประเมินและตรวจสอบเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแนวทางการปรับใช้ประกาศดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย และตรงตามเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด

ซึ่งจากการวิจัยในช่วงปี 2563 – 2564 ได้ผลสรุปว่า rPET สามารถนำกลับมาใช้ได้สำหรับเป็นวัสดุสัมผัสอาหารโดยตรง แต่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยว่ากระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพในการกำจัดสารตกค้าง หรือสารปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยโดยเม็ดพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจะต้องมีคุณภาพเทียบเท่ากับพลาสติกใหม่ (virgin PET)

หากไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องมีมาตรการลดการปนเปื้อน หรือลดโอกาสที่สารตกค้างจะแพร่กระจายไปยังอาหารเช่นมีที่ขั้นกั้นขวางไม่ให้สัมผัสอาหารโดยตรง หรือลดสัดส่วนของrPET โดยผสม virgin PET เป็นต้น

ในขณะเดียวกันยังมีทางเลือกอื่นที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปได้ หากสามารถนำไปผ่านเทคโนโลยีการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นของใช้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งทอ ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

แม้การปลดล็อกทางกฎหมายจะเป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้ rPET ถูกนำกลับมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารได้ แต่มีกระบวนการที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการพิจารณาและอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดย โรงงานรีไซเคิลต้องผ่านการประเมินประสิทธิภาพการรีไซเคิลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กับหน่วยประเมินความปลอดภัยที่ อย. ประกาศรายชื่อ  แล้วนำข้อมูลมายื่นให้ (อย.) เพื่อพิจารณาอนุญาตตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยที่อุตสาหกรรมจะยื่นขออนุญาตต่อไป

มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเคียงข้างประชาชน  ทำหน้าที่”ปัญญาของแผ่นดิน” มอบองค์ความรู้สู่การมีสุขภาวะที่ดีและปลอดภัย เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ให้คะแนน
PR
PR