เกี่ยวกับงานบริการวิชาการ และพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา ส่วนงานต่าง ๆ จึงมีการให้บริการทางวิชาการหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้กำหนดยุทธศาสตร์ Policy Advocacy and Leaders in Professional / Academic Services โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะเชิงนโยบายระดับชาติและนานาชาติ  ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยบรรลุไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงได้มีประกาศจัดตั้ง “หน่วยบริการวิชาการ” (Academic Service Unit) ในปี พ.ศ. 2563 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการวิชาการของส่วนงานมหาวิทยาลัยมหิดล โดยอยู่ภายใต้งานยุทธศาสตร์และวิจัยสถาบัน กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี จนเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 สภามหาวิทยาลัยมหิดลรับทราบในการประชุมครั้งที่ 576 ให้หน่วยบริการวิชาการยกระดับจัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มงาน “งานบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม” ภายใต้การกำกับดูแลของกองแผนงาน

หน้าที่ความรับผิดชอบ 
  1. สร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ของการบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  2. กำกับดูแล/สนับสนุนให้การบริการวิชาการเป็นไปตามมาตรฐานสากล
  3. สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม (Policy Advocacy)
  4. จัดเก็บข้อมูลงานบริการวิชาการของส่วนงานและฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในแขนงวิชาต่าง ๆ
  5. ประชาสัมพันธ์กิจกรรมบริการวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ส่วนงานจัดขึ้น
คำนิยามของการให้บริการทางวิชาการ 

“การให้บริการทางวิชาการ” หมายถึง การบริการทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นภารกิจตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งส่วนงาน เช่น การให้บริการทางการแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข การรับให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ จัดอบรมหรือสัมมนา การผลิตหรือพัฒนาพัสดุทุกประเภท ซึ่งส่วนงานดำเนินงานภายใต้โครงการบริการวิชาการของส่วนงานกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่ต้องมีการทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

เอกสารอ้างอิง

ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยหลักเกณฑ์การให้บริการรับทำวิจัยและให้บริการทางวิชาการ พ.ศ. 2561, หน้า 2.