เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดตัวโครงการ Policy Advocacy 2023 พร้อมมอบสัญญารับทุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (Policy Advocacy 2023) และมอบนโยบายพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมให้แก่ผู้รับทุนในโครงการ Policy Advocacy 2023 โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานในรายละเอียด โครงการฯ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และรักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้แทนผู้บริหารส่วนงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 530 ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ภายในงาน มีการนำเสนอโครงการ Conceptual frameworks จากหัวหน้าโครงการผู้ได้รับทุน อาทิ
โครงการที่ 1: การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการที่ 2: กลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในโรงพยาบาลชุมชน นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการที่ 3: เพื่อนรักต่างศาสนากับการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนจากชุมชนฐานราก นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการที่ 4: แผนนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนบนฐานระบบวนเกษตรชุมชน นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการที่ 5: “MU MyMind” ส่งเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น: ผลงานวิจัยสู่นโยบายและการปฏิบัติจริง นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดยุทธศาสตร์ Policy Advocacy and Leaders in Professional/ Academic Services โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นผู้นำด้านสุขภาวะเชิงนโยบายระดับชาติและนานาชาติ ด้วยการสร้างระบบขับเคลื่อนและสนับสนุน Policy Advocacy จากการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลหลากหลายสาขาวิชาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่นโยบายระดับประเทศ ยังเป็นการนำไปสู่การชี้นำสังคมและขับเคลื่อน 17 เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติเพื่อสังคมที่ดีขึ้นในโอกาสต่อไป