พฤติกรรมเนือยนิ่งหรือวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยขยับตัวกำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในปัจจุบัน ผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยในปี พ.ศ. 2557 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าโดยเฉลี่ยคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ไม่รวมการนอนหลับประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน และพฤติกรรมเนือยนิ่ง 3 อันดับแรกคือการนั่งดูโทรทัศน์ การนั่งประชุม และการนั่งทำงาน ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในสำนักงาน และมีลักษณะงานที่เอื้อให้บุคลากรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง จึงได้เห็นความสำคัญในการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายให้แก่บุคลากรและได้ทดลองใช้โปรแกรมลดระยะเวลาเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของโปรแกรมลดระยะเวลาเนือยนิ่งต่อพฤติกรรมเนือยนิ่งของพนักงานสำนักงาน” ที่พัฒนาโดยใช้กรอบแนวคิดโมเดลเชิงนิเวศวิทยาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ที่เน้นการปฏิบัติการแบบพหุระดับ (multi-level intervention) ได้แก่ระดับองค์กรและระดับบุคคล ซึ่งประกอบด้วย 8 กิจกรรม คือ 1) นโยบายการส่งเสริมสุขภาวะของบุคลากรกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม 2) ทีม/ บุคคลต้นแบบ 3) การแข่งขันลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 4) การสื่อสารทาง Line group 5) โต๊ะประชุมปรับระดับได้ 6) โปสเตอร์ส่งเสริมการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 7) การให้ความรู้ 8) การแจ้งเตือนให้ขยับร่างกาย
ผลการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทดลองใช้โปรแกรมลดระยะเวลาเนือยนิ่ง จำนวน 41 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนก้าวเฉลี่ย 12,357 ก้าว/ วัน มีค่าดัชนีมวลกายลดลงร้อยละ 77.78 (เพศชาย) และร้อยละ 66.67 (เพศหญิง) มีสัดส่วนเอวต่อสะโพกลดลงร้อยละ 27.78 (เพศชาย) และร้อยละ 47.62 (เพศหญิง)
จากการประกาศนโยบายส่งเสริมสุขภาวะฯ การให้ความรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ส่งผลให้บุคลากรเกิดความตระหนักถึงอันตรายจากการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งและให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ผลจากการจัดกิจกรรมแข่งขันลดพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยใช้ smartwatch แจ้งเตือนให้ขยับร่างกายพบว่าบุคลากรมีการขยับร่างกายในชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งโต๊ะประชุมปรับระดับได้สามารถปรับใช้ทำกิจกรรมตีปิงปองหรือยืนประชุม ส่งผลให้บุคลการหันมาสนใจการออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน