หลักการและเหตุผล
ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 ซึ่งยกระดับจากการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco-University) หนึ่งแผนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวคือการปรับปรุงระบบภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวดั้งเดิมที่มีอยู่ภายในมหาวิทยาลัยและเพิ่มขนาดพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ให้มากขึ้น ตามแนวคิดที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีสุขภาวะ โดยการพัฒนาพื้นที่ว่างหรือพื้นที่สีเขียวเดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมการศึกษา กีฬาหรือนันทนาการของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย และเป็นการเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยตลอดจนชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัย นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นยังช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ ของส่วนงานได้อีกด้วย กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจะจัดโครงการประกวดสวนมุมสวยเพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย และเป็นการกระตุ้นให้ส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ภายในส่วนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
กำหนดการ
9 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน 2561 รับสมัครพื้นที่เข้าร่วมการประกวด
18 – 22 มิถุนายน 2561 ประกาศผลพื้นที่ผ่านเกณฑ์การประกวดเบื้องต้น
25 มิถุนายน – 27 กรกฎาคม 2561 ส่วนงานปรับปรุงพื้นที่สวนมุมสวย
16 -31 กรกฎาคม 2561 ส่งผลงานภาพถ่ายสวนมุมสวยที่ปรับปรุงแล้ว
สิงหาคม 2561 ประกาศผล
ประเภทรางวัล
- รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ
- รางวัลชมเชย เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ
ข้อกำหนดพื้นที่
- เป็นพื้นที่ของคณะ/สถาบันที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 25 ตารางเมตร มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน โดยเป็นพื้นที่ภายในหรือภายนอกอาคารก็ได้
- เป็นพื้นที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัด (ไม่เป็นพื้นที่อับสายตา)
- การจัดพื้นที่ต้องมีพรรณไม้ (ต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ หญ้า) เป็นองค์ประกอบในพื้นที่
- ต้องเป็นการจัดการพื้นที่ที่สามารถดูแลให้สวยงานได้อย่างยั่งยืน
- ในพื้นที่ต้องปลูกต้นกันภัยมหิดล พร้อมจัดทำซุ้ม/ระแนง หรือค้างไม้เลื้อย
การส่งพื้นที่เข้าร่วมการประกวด
ส่งภาพถ่าย สภาพพื้นที่ปัจจุบันก่อนการปรับปรุง ไม่น้อยกว่า 5 ภาพ (ถ่ายภาพทุกด้าน) อย่างชัดเจน พร้อมกรอกใบสมัคร ข้อมูลพื้นที่และแนบภาพถ่ายขนาดโปสการ์ด (4*6 นิ้ว) ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2561