ระบบบำบัดน้ำเสีย
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก่อสร้างในปี 2523 ซึ่งมีจำนวนบุคลากร และนักศึกษา จำนวนน้อย จึงใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง ภายหลังบุคลากร และนักศึกษา เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และประกอบด้วยอาคารมากกว่า 80 อาคาร ได้แก่ อาคารเรียน หอพักนักศึกษา คอนโด โรงอาหาร มีบุคลากร นักศึกษา มากกว่า 30,000 คน ทำให้ระบบบ่อผึ่งไม่สามารถรองรับน้ำเสียได้ จึงก่อให้เกิดน้ำเสียเป็นจำนวนมาก และน้ำเสียปนเปื้อนไหลลงแหล่งน้ำผิวดิน จึงมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge ขึ้นมาในปี พ.ศ.2555 โดย สามารถรองรับน้ำเสียได้ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวบรวมน้ำเสียจาก 17 หน่วยงาน ได้แก่ 1) วิทยาลัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีการกีฬา 2) หอพักนักศึกษากองกิจการนักศึกษา 3) ศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ 5) วิทยาลัยนานาชาติ 6) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 7)คณะวิทยาศาสตร์ 8) บัณฑิตวิทยาลัย 9) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 10) หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล 11) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ 12) สถาบันโภชนาการ 13) สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน14) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย 15) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ 16) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และ 17) อาคารนวัตกรรมชีวภัณฑ์มหิดล และหน่วยงานที่เหลือจะมีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองเนื่องจากเป็นอาคารก่อสร้างใหม่ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจะมีการตรวจสอบติดตามคุณภาพน้ำผิวดินเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีทัศนียภาพที่สวยงาม และเพื่อสุขภาวะของบุคลากร และนักศึกษาที่ดี จึงมีการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้องตามกฎหมายกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการนี้มีการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเชื่อมโยง SDG เป้าหมายที่ 6 การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน โดยบุคลากร และนักศึกษาที่ต้องการติดตามผลคุณภาพน้ำสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ที่
โดยระบบบำบัดน้ำเสียแบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ถังเติมอากาศ (Aeration Tank) และถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยน้ำเสียจะถูกส่งเข้าบ่อเติมอากาศ ซึ่งมีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้อยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำในที่สุด น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลต่อไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกสลัดจ์ออกจากน้ำใส สลัดจ์ที่แยกตัวอยู่ที่ก้นบ่อตกตะกอนส่วนหนึ่งจะถูกสูบกลับเข้าไปในถังเติมอากาศใหม่เพื่อรักษาความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในบ่อเติมอากาศให้ได้ตามที่กำหนด และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นสลัดจ์ส่วนเกิน (Excess Sludge) โดยนำไปทำปุ๋ยต่อไป สำหรับน้ำใสส่วนบนจะเป็นน้ำทิ้งถูกส่งต่อไปบ่อสัมผัสคลอรีน โดยจะใช้ไบโอคลอรีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยลงคูคลองภายในมหาวิทยาลัยและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
กระบวนการบำบัดน้ำเสียแบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
น้ำรีไซเคิล
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ได้แก่ ด้านวัตถุดิบ ด้านพลังงาน ด้านน้ำ ด้านการลดปริมาณกากของเสีย การใช้ประโยชน์ที่ดินและการควบคุมอาหาร ส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดดุลยภาพของมิติเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อส่งเสริมกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำ ภายในมหาวิทยาลัย จึงนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า
ระบบบำบัดน้ำเสียแบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 โดยสามารถผลิตน้ำรีไซเคิลได้วันละประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2562 มีโครงการวางท่อระบบจ่ายน้ำรีไซเคิล
โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดเติมไบโอคลอรีนแล้วจ่ายน้ำให้หน่วยงาน ดังนี้
ระบบบำบัดน้ำเสีย ลานจอดรถบัส คณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ โดยนำน้ำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างเครื่องจักรอุปกรณ์ ล้างพื้นคอกม้า ล้างกรงสัตว์ และล้างรถบัส รายละเอียดดังรูปภาพ
ตลอดระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ประหยัดน้ำประปา 33,594 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 707,124 บาท รายละเอียดดังกราฟ โดยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิตน้ำประปาจำนวน9,550.77 tonCO2e และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเชื่อมโยง SDG เป้าหมายที่ 6 การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 12 ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle