U-TURN Platform
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 และเพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดลจึงร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกัน อาทิเช่น โครงการ ThinkCycle Bank และโครงการ GC Circular Living Symposium 2020 เป็นต้น จากความสำเร็จของโครงการในปีนี้จึงร่วมกันจัดโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ชื่อ U-TURN Platform (GC) เพื่อนำเสนอผลงานและสร้างเครือข่ายด้านการบริหารจัดการขยะ (Waste Management) โดยเฉพาะขยะพลาสติก จึงได้จัดเป็น 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1 “GC x Mahidol Webinar : Circular Economy & Sustainability for Higher Education” เป็นกิจกรรมที่สององค์กรต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกันจัดงานเสวนาออนไลน์ภายใต้ชื่อ “GC x Mahidol Webinar: Circular Economy & Sustainability for Higher Education” ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เพื่อนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีที่คำนึงถึงการผลิต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การนำกลับมาผลิตใหม่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนด้าน Circular Economy ของมหาวิทยาลัยมหิดล”
- ดร.ชญาณ์ จันทวสุ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “Circular economy & Collaboration: Adaptability and Opportunity in Resilience Development”
- Ms. Mari Nishimura UNEP บรรยายในหัวข้อ “Behavior Change on Campus”
- รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนด้าน Sustainability และ Circular Economy ของมหาวิทยาลัยมหิดล”
และการเสวนาร่วมกันในหัวข้อ “การบูรณาการ YOU เทิร์น Platform by GC ในมหาวิทยาลัยมหิดล” ของผู้แทนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล โดยกิจกรรมนี้นำเสนอในรูปแบบ Online Oral Presentation ผ่านโปรแกรม Webex Events และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : Mahidol University Sustainability มีผู้ร่วมรับชมจำนวน 261 คน โดยผู้รับชมได้รับแรงบันดาลใจในการนำความรู้ นำประโยชน์ที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการเริ่มจากจุดเล็กๆ เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ความยั่งยืน
กิจกรรมที่ 2 “We turn” คืนขวดพลาสติก พัฒนาการแพทย์” เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินกิจกรรม “We turn” คืนขวดพลาสติก พัฒนาการแพทย์” จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 โดยกิจกรรมดังกล่าวจะนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายเสื้อโปโล Upcycling ที่ผลิตจากขวดพลาสติก มอบให้ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายยอดบริจาคขวดพลาสติกใสไว้ที่ 8,000 ใบ เพื่อผลิตเป็นเสื้อโปโลจำนวน 400 ตัว จำหน่ายเนื่องใน “วันมหิดล” 24 กันยายน 2564 จึงนับเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรม Circular Living ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชนที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดโลกร้อน และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วย COVID-19 ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลติดตั้งถังรับบริจาคขวดน้ำพลาสติก จำนวน 5 จุด เพื่อรับบริจาคขวดพลาสติกจากนักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไป ในระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 จากความร่วมมือของทุกคนในการคัดแยกขยะและนำขวดพลาสติกมาบริจาคทำให้ได้ยอดบริจาคขวดพลาสติกเกินเป้าหมาย แล้วยังช่วยส่งเสริมการใช้นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ และทำให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยได้เปิดรับบริจาคขวดน้ำพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีนักศึกษาบุคลากร และบุคคลทั่วไป รวมทั้งบริษัท ที่มาร่วมบริจาคทั้งที่จุดรับบริจาคและมาบริจาคที่มหาวิทยาลัย โดยมียอดร่วมในการบริจาคในครั้งนี้ จำนวน 19,500 ใบ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยได้ส่งขวดทั้งหมดให้กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปเข้าโรงงานในการทำความสะอาดและปันเป็นเศษพลาสติกเพื่อผลิตเป็นด้ายสำหรับทอเป็นผ้าใช้ในการตัดเย็บเป็นเสื้อต่อไป ซึ่จะแล้วเสร็จเป็นเสื้อโปโลและจำหน่ายได้ในวันมหิดล 24 กันยายน 2564
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการได้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับว่าเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อ 12. Responsible Consumption and Production เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและจัดการขยะ รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล และข้อ 13. Climate action เป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน