ระบบบำบัดน้ำเสีย
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัย ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยมีลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อธรรมชาติ (Oxidation Pond) ซึ่งในปัจจุบันประสบกับปัญหาประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาคารและจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ประกอบกับระบบเดิมซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี มีการชำรุดเสียหายของระบบ การขาดการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งพบว่ามีการทิ้งน้ำเสียจากบางส่วนงานลงสู่คูคลองสาธารณะ และรางระบายน้ำฝนของมหาวิทยาลัย ทำให้แหล่งน้ำผิวดินเกิดการเน่าเสีย จึงมีการศึกษา สำรวจ ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งออกแบบเพื่อรองรับน้ำเสียจากอาคารต่างๆ ในปัจจุบัน รวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กำหนดปริมาณการรองรับน้ำเสีย 6,000 ลบ.ม./วัน โดยในระยะแรกได้ออกแบบเพื่อรองรับน้ำเสียจากบ้านมหิดล ที่เป็นที่ตั้งกลุ่มอาคารหอพักนักศึกษาแต่จากสภาพปัจจุบันในพื้นที่มีปัญหาการเน่าเสียของน้ำบริเวณคูคลองโดยรอบอย่างรุนแรง
วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาระบบบัดบัดน้ำเสียส่วนกลางของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายการบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งประเภท ก. (น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20 mg/l) ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
2) เพื่อแก้ไขและป้องกันการทิ้งน้ำเสียจากส่วนงานต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในระยะยาว
3) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการระบบน้ำผิวดิน และระบบบำบัดน้ำเสีย ภายในมหาวิทยาลัย มหิดล มีสภาพเรียบร้อยสวยงาม ถูกต้องตามมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
พื้นที่
ครอบคลุมพื้นที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียรวม ด้านทิศตะวันตกของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีขนาดพื้นที่รวม ประมาณ 2 ไร่