ระบบจำหน่ายไฟฟ้า แรงสูง แรงต่ำ สถานีไฟฟ้าย่อยระบบจำหน่ายไฟฟ้า แรงสูง แรงต่ำ สถานีไฟฟ้าย่อย

มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีสถานีไฟฟ้าย่อยขนาดพิกัดแรงดัน 115,000 /22,000 โวลท์ สามารถจ่ายโหลดได้สูงสุด 30/40 เมกะวัตต์ สถานีไฟฟ้าฯทำหน้าที่ลดระดับแรงดันกระแสไฟฟ้าจากระบบแรงดัน 115,000 โวลท์ ให้เหลือเพียงระดับแรงดันพิกัด 22,000 โวลท์ เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าในระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง ให้กับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ประกอบด้วย คณะ วิทยาลัย สถาบัน โครงการ ศูนย์ มหิดลสิทธาคาร และสำนักงานอธิการบดี มีระยะทางของสายส่งไฟฟ้าในระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงรวมประมาณ 8,000 เมตร และมีหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดต่างๆ ที่รับไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 91 ชุด ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดได้ให้บริการด้านการศึกษาการเรียนการสอน การวิจัย การประชุมสัมมนาภายในประเทศและระหว่างประเทศ และโรงพยาบาล เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ถูกแบ่งออกเป็น 2 วงจร (Feeder) วงจรที่ 1 จ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่รับไฟฟ้าจำนวน 15 ส่วนงาน หม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 52 ชุด, วงจรที่ 2 จ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่รับไฟฟ้าจำนวน 13 ส่วนงาน หม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 39 ชุด เพื่อให้ระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และมีเสถียรภาพ

งานสาธารณูปโภคและระบบอาคาร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจึงได้ดำเนินนโยบายโครงการหลักโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1. โครงการ ‎Routine หมายถึง โครงการที่ทำเป็นประจำทุกปี ตัวอย่างเช่น โครงการบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าย่อยประจำปี, โครงการบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้าประจำปี, โครงการจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมไฟฟ้าแรงสูง – ต่ำ สำรองคลัง ประจำปี เป็นต้น 2. โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อพัฒนาระบบจำหน่ายหรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับสถานีไฟฟ้าย่อย และระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน ตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการปรับปรุงที่ผ่านมาเช่น โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งการ์ดครอบอุปกรณ์ป้องกัน (Guard Cover), โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง แรงดัน 22,000 โวลท์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, โครงการ Digital Power Meter System [Automatic Meter Reading : AMR], โครงการจัดระเบียบสายสื่อสารภายใน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นต้น

สถานีไฟฟ้าย่อยมหิดล ศาลายา เริ่มใช้งานอย่างเต็มระบบเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีสถิตการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2562 รอบเวลา 13.00 น. พลังงานที่ใช้ 15.6 เมกะวัตต์ คิดเป็น 48.8 % ของพิกัดหม้อแปลง ( คิดที่ 100 % ของพิกัดหม้อแปลง ) และสามารถเพิ่มโหลดได้อีก 16.4 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 51.3 % ของพิกัดหม้อแปลง และมีสถิติการใช้ไฟฟ้าต่ำสุด วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 รอบเวลา 10.00 น. พลังงานที่ใช้ 5.8 เมกะวัตต์ คิดเป็น 18.1 % ของพิกัดหม้อแปลง ( คิดที่ 100 % ของพิกัดหม้อแปลง ) และสามารถเพิ่มโหลดได้อีก 26.2 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 81.9 % ของพิกัดหม้อแปลง

ภาพกราฟแสดง Load การใช้ไฟฟ้า พ.ศ.2561 – 2564

จากการเก็บสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าที่รับจากสถานีไฟฟ้าย่อยมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปี พ.ศ. 2561 – 2563 ด้วยการนำใบแจ้งหนี้มาบันทึกค่าลงในระบบไฟล์ Excel เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล นั้น พบว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกตามปีได้ดังนี้ พ.ศ.2561 มีการใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้า (kWh) ทั้งสิ้น 56,521,463.45 kWh. คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 226,309,212.04 บาท

ปีพ.ศ.2562 มีการใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้า (kWh) ทั้งสิ้น 61,412,940.73 kWh. คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 241,253,900.71 บาท

ปีพ.ศ.2563 มีการใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้า (kWh) ทั้งสิ้น 39,746,225.24 kWh. คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 155,203,134.91 บาท

ภาพรวมการใช้พลังงานไฟฟ้าประจำปี 2561 – 2563

โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นมา งานสาธารณูปโภคและระบบอาคาร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการ Digital Power Meter System [Automatic Meter Reading : AMR] แล้วเสร็จ โดยสามารถจดหน่วยออกใบแจ้งหนี้ให้กับส่วนงานเพื่อเรียกเก็บค่าไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ

ภาพแสดงโปรแกรม www.mahidol-amr.com

ตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติ

ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพื่อส่งเสริมการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านการลดการใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol No Plastic) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564

สืบเนื่องจากกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้แก้วพลาสติก ในปี พ.ศ. 2563 กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจึงได้ติดตั้งตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติจำนวน 8 ตู้ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมและสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรนำแก้วส่วนตัวมากดน้ำดื่มจากตู้กดน้ำระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะขวดพลาสติกจากการซื้อน้ำบริโภค และช่วยลดการสัมผัสของผู้ใช้งานทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ อีกทั้งยังช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรได้ดื่มน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean water and sanitation)

โดยตู้กดน้ำดังกล่าวจะใช้ระบบ UF +UV ที่สามารถกรองแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ และยังคงรักษาแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ ซึ่งไส้กรองน้ำได้รับรองมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มจากสถาบัน NSF (National Sanitary Foundation) โดยได้ติดตั้งใน 4 จุด รอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่

  • อาคารสิริวิทยา จำนวน 1 ตู้ (หน้าห้องน้ำหญิงชั้น 1)
  • อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล จำนวน 4 ตู้ (ศูนย์อาหารและลานดอกกันภัยมหิดล)
  • อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จำนวน 1 ตู้ (อาคารใบไม้สามใบ)
  • อาคารสำนักงานอธิการบดี จำนวน 2 ตู้ (หลังห้องประชุมชั้น 1 ฝั่งทิศเหนือและทิศใต้)