โครงการรณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดการใช้แก้วพลาสติก

มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564 กิจกรรมภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมให้มีความน่าสนใจและอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาคมมหิดลในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นรวมทั้งร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ในปี พ.ศ. 2562 กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดทำโครงการ “โครงการรณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดใช้แก้วพลาสติก” ด้วยว่าเล็งเห็นถึงปัญหาของแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และคำนึงถึงสุขภาพของชาวมหิดล จากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกายอันจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงผนวกองค์ความรู้ด้านการแพทย์และโภชนาการ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี โดยเริ่มจากการสื่อสารภายในมหาวิทยาลัยและร่วมมือกับร้านจำหน่ายเครื่องดื่มในวิทยาเขตศาลายา ในการรณรงค์ให้นำแก้วพกพามาซื้อเครื่องดื่มจะใช้แรงจูงใจในการลดราคา และส่งเสริมการลดหวานในเครื่องดื่มโดยใช้สื่อบ่งชี้ระดับน้ำตาลหรือความหวานให้ลูกค้าได้เลือกก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมและสร้างความตระหนักแก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงตามนโยบายส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) และข้อที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) รวมทั้งสุขภาวะที่ดีของร่างกายในระยะยาวตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)

จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนถุงพลาสติกที่งดแจกให้ผู้มารับบริการที่ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย พบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการปี พ.ศ. 2559-2563 มีปริมาณถุงพลาสติกที่ลดลง 8,645,604 ใบ คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,729 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (กระบวนการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.2 kg CO2 eq) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 Climate Action รวมทั้งยังเป็นการช่วยการก่อขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และพัฒนาต่อยอดให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 Responsible Consumption and Production อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมการลดใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากนักศึกษา บุคลากร ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ