แผนพัฒนาโครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แผนพัฒนาโครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล มีปณิธานสำคัญของการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” โดยมีพันธกิจหลักเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรม บนพื้นฐานคุณธรรม เพื่อสังคมไทย และประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน เพื่อหนุนเสริมมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ด้วยการสร้างให้เกิดดุลยภาพของมิติเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยจากแนวคิดดังกล่าวมหาวิทยาลัย จึงจัดทำโครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่วิทยาเขตศาลายา เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยมีความประสงค์สรรหาผู้สนใจเพื่อยื่นข้อเสนอการลงทุน ในรูปแบบของการลงทุนติดตั้งระบบและบำรุงรักษา จำหน่ายไฟฟ้าในอัตราส่วนลดที่ถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าปกติให้กับทางมหาวิทยาลัย
จากการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานบริหารและพัฒนาระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 11/2561 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 พิจารณารายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน โดยมีผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ และตัวแทนของคณะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเข้าร่วมเป็น คณะกรรมการด้วย เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์การลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนให้ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมีการลดการใช้พลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้มาก ขึ้นโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการกำหนดแผนงานและแนวทางดำเนินโครงการฯ สำรวจ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินโครงการ และบริหารจัดการงานโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน แต่งตั้ง ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2561
คณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ดำเนินการประชุม สำรวจ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และร่างขอบเขตของงานโครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนแล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอโครงการฯ เข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ และได้รับการอนุมัติโครงการฯ จากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 558 วันที่ 15 กรกฎาคม 2563
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอการลงทุนโครงการฯ พบว่า บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด เป็นผู้ให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่มหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการ
โครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cells) ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และรายงานผลการคัดเลือกผู้ลงทุน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 27/2564 วันที่ 12 ตุลาคม 2564
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์” ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด โดยมี นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด และ นายอาคม มานะแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งในวันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการดำเนินการก้าวแรกในการลดก๊าซเรือนกระจกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 14 เมกกะวัตต์ โครงการดังกล่าวจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 10,487 ตันต่อปี คิดเป็น 21% และในอนาคตได้เตรียมแผนขยายพื้นที่การติดตั้ง Solar Rooftop ไปยังวิทยาเขตอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Climate Action)
นับจากวันที่ลงนามในสัญญาความร่วมมือ มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ โครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cells) ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประชุมติดตาม พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้อง และความคืบหน้าของการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นระยะ ๆ และได้ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ เริ่มดำเนินการติดตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จ ขนาดรวมขนาด 14 เมกกะวัตต์ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566