UI GreenMetric University Ranking
UI GreenMetric University Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดอันดับระดับนานาชาติ (IREG) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ. 2553) โดยผ่านการสำรวจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ Green Campus และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ประกอบไปด้วย 6 ตัวชี้วัด ได้แก่
- การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Setting and Infrastructure: SI)
- การจัดการพลังงาน (Energy and Climate Change: EC)
- การจัดการกากของเสีย (Waste: WS)
- การจัดการน้ำ (Water: WR)
- การคมนาคมขนส่ง (Transportation: TR)
- การศึกษาและวิจัย (Education and Research: ED)
สำหรับแนวทางการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นเสนอพิจารณาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว สามารถดาวน์โหลดคู่มือและดูข้อมูลอื่น ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greenmetric.ui.ac.id/
ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เนื่องจากเป็นการวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการจัดอันดับ UI GreenMetric จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 37 แห่ง และจาก 912 แห่งจากทั้งโลก โดยในปี 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปีซ้อน และได้อันดับที่ 62 ของโลก แสดงในภาพที่ 1 โดยผลคะแนนจากการพิจารณารายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้าน ของมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงในตารางที่ 1 และภาพที่ 3
ภาพที่ 1 กราฟแสดงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2563
ภาพที่ 2 แสดงอันดับที่ได้และผลคะแนนจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล
ตารางที่1 ผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563
ปี | Total | Setting and Infrastructure | Energy and Climate Change | Waste | Water | Transportation | Education & Research |
2555 | 6,208 | 739 | 1,560 | 1,350 | 865 | 1,375 | 319 |
2556 | 6,370 | 706 | 1,455 | 1,350 | 865 | 1,375 | 619 |
2557 | 6,343 | 741 | 1,455 | 1,350 | 865 | 1,375 | 557 |
2558 | 5,736 | 678 | 1,200 | 1,425 | 565 | 1,009 | 589 |
2559 | 5,992 | 928 | 1,077 | 1,251 | 485 | 1,345 | 906 |
2560 | 5,782 | 829 | 1,095 | 1,302 | 560 | 1,162 | 834 |
2561 | 6,850 | 1,050 | 1,175 | 1,275 | 800 | 1,225 | 1,325 |
2562 | 7,350 | 1,100 | 1,175 | 1,125 | 1,000 | 1,475 | 1,475 |
2563 | 7,875 | 1,100 | 1,175 | 1,425 | 1,000 | 1,525 | 1,650 |
ภาพที่ 3 กราฟแสดงผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย จัดงานเสวนา The 3rd National Workshop of UI GreenMetric for University in Thailand ผ่านระบบ Zoom พร้อมถ่ายทอดสดทาง Facebook Mahidol University Sustainability โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ให้เกียรติกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ Prof. Dr. Ir. Riri Fitri Sari, M.Sc., M.M (Chairperson of UI GreenMetric) บรรยายในหัวข้อ “UI GreenMetric Remarks” ที่กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่ายทั้งภายในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั้งหมดที่ให้ความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืนร่วมกัน ตลอดจนกล่าวเชิญชวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจัดโดย UI GreenMetric สำหรับปี 2022 นี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวตามหลักเกณฑ์ของ UI GreenMetric ซึ่งมี Asst. Prof. Junaidi, M.A. (Vice-Chair of UI GreenMetric) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Guideline of UI GreenMetric World University Rankings 2022” ซึ่งให้คำแนะนำในส่วนของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและมีผลต่อการจัดอันดับตามมาตรฐาน UI GreenMetric World University Rankings และ Prof. Ir. Gunawan Tjahjono, M.Arch., Ph.D (Expert Member of UI GreenMetric) บรรยายในหัวข้อ “2022 UI GreenMetric Indicators and Data Submission Process” โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินและจัดอันดับตามมาตรฐานของ UI GreenMetric รวมถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรแก่ทาง UI GreenMetric และปิดท้ายด้วยการบรรยายในหัวข้อ Sharing Best Practices: Green Campus โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประจำมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง สามารถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้เรียนเชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศและผู้ที่สนใจอื่น ๆ เข้าร่วมรับฟังกิจกรรมเสวนาดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวให้สอดคล้องตามเกณฑ์ใหม่ในปี 2022 ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live รวมทั้งสิ้น 131 คน