UI GreenMetric University Ranking

UI GreenMetric University Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดอันดับระดับนานาชาติ (IREG) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ. 2553) โดยผ่านการสำรวจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ Green Campus และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ประกอบไปด้วย 6 ตัวชี้วัด ได้แก่

  1. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Setting and Infrastructure: SI)
  2. การจัดการพลังงาน (Energy and Climate Change: EC)
  3. การจัดการกากของเสีย (Waste: WS)
  4. การจัดการน้ำ (Water: WR)
  5. การคมนาคมขนส่ง (Transportation: TR)
  6. การศึกษาและวิจัย (Education and Research: ED)

สำหรับแนวทางการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นเสนอพิจารณาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว สามารถดาวน์โหลดคู่มือและดูข้อมูลอื่น ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greenmetric.ui.ac.id/

ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เนื่องจากเป็นการวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการจัดอันดับ UI GreenMetric จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 37 แห่ง และจาก 912 แห่งจากทั้งโลก โดยในปี 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปีซ้อน และได้อันดับที่ 62 ของโลก แสดงในภาพที่ 1 โดยผลคะแนนจากการพิจารณารายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้าน ของมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงในตารางที่ 1 และภาพที่ 3

ภาพที่ 1 กราฟแสดงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2563

ภาพที่ 2 แสดงอันดับที่ได้และผลคะแนนจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล

ตารางที่1 ผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563

ปี Total Setting and Infrastructure Energy and Climate Change Waste Water Transportation Education & Research
2555 6,208 739 1,560 1,350 865 1,375 319
2556 6,370 706 1,455 1,350 865 1,375 619
2557 6,343 741 1,455 1,350 865 1,375 557
2558 5,736 678 1,200 1,425 565 1,009 589
2559 5,992 928 1,077 1,251 485 1,345 906
2560 5,782 829 1,095 1,302 560 1,162 834
2561 6,850 1,050 1,175 1,275 800 1,225 1,325
2562 7,350 1,100 1,175 1,125 1,000 1,475 1,475
2563 7,875 1,100 1,175 1,425 1,000 1,525 1,650

ภาพที่ 3 กราฟแสดงผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563

กิจกรรมเสวนาออนไลน์ UI GreenMetric World University ปี 2565 The 3rd National Workshop of UI GreenMetric for University in Thailand

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย จัดงานเสวนา The 3rd National Workshop of UI GreenMetric for University in Thailand ผ่านระบบ Zoom พร้อมถ่ายทอดสดทาง Facebook Mahidol University Sustainability โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ให้เกียรติกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ Prof. Dr. Ir. Riri Fitri Sari, M.Sc., M.M (Chairperson of UI GreenMetric) บรรยายในหัวข้อ “UI GreenMetric Remarks” ที่กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่ายทั้งภายในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั้งหมดที่ให้ความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืนร่วมกัน ตลอดจนกล่าวเชิญชวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจัดโดย UI GreenMetric สำหรับปี 2022 นี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวตามหลักเกณฑ์ของ UI GreenMetric ซึ่งมี Asst. Prof. Junaidi, M.A. (Vice-Chair of UI GreenMetric) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Guideline of UI GreenMetric World University Rankings 2022” ซึ่งให้คำแนะนำในส่วนของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและมีผลต่อการจัดอันดับตามมาตรฐาน UI GreenMetric World University Rankings และ Prof. Ir. Gunawan Tjahjono, M.Arch., Ph.D (Expert Member of UI GreenMetric) บรรยายในหัวข้อ “2022 UI GreenMetric Indicators and Data Submission Process” โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินและจัดอันดับตามมาตรฐานของ UI GreenMetric รวมถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรแก่ทาง UI GreenMetric และปิดท้ายด้วยการบรรยายในหัวข้อ Sharing Best Practices: Green Campus โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประจำมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง สามารถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้เรียนเชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศและผู้ที่สนใจอื่น ๆ เข้าร่วมรับฟังกิจกรรมเสวนาดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวให้สอดคล้องตามเกณฑ์ใหม่ในปี 2022 ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live รวมทั้งสิ้น 131 คน