UI GreenMetric University Ranking

UI GreenMetric University Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดอันดับระดับนานาชาติ (IREG) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ. 2553) โดยผ่านการสำรวจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ Green Campus และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ประกอบไปด้วย 6 ตัวชี้วัด ได้แก่

  1. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Setting and Infrastructure: SI)
  2. การจัดการพลังงาน (Energy and Climate Change: EC)
  3. การจัดการกากของเสีย (Waste: WS)
  4. การจัดการน้ำ (Water: WR)
  5. การคมนาคมขนส่ง (Transportation: TR)
  6. การศึกษาและวิจัย (Education and Research: ED)

สำหรับแนวทางการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นเสนอพิจารณาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว สามารถดาวน์โหลดคู่มือและดูข้อมูลอื่น ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greenmetric.ui.ac.id/

ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เนื่องจากเป็นการวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการจัดอันดับ UI GreenMetric จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 37 แห่ง และจาก 912 แห่งจากทั้งโลก โดยในปี 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปีซ้อน และได้อันดับที่ 62 ของโลก แสดงในภาพที่ 1 โดยผลคะแนนจากการพิจารณารายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้าน ของมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงในตารางที่ 1 และภาพที่ 3

ภาพที่ 1 กราฟแสดงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2563

ภาพที่ 2 แสดงอันดับที่ได้และผลคะแนนจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล

ตารางที่1 ผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563

ปี Total Setting and Infrastructure Energy and Climate Change Waste Water Transportation Education & Research
2555 6,208 739 1,560 1,350 865 1,375 319
2556 6,370 706 1,455 1,350 865 1,375 619
2557 6,343 741 1,455 1,350 865 1,375 557
2558 5,736 678 1,200 1,425 565 1,009 589
2559 5,992 928 1,077 1,251 485 1,345 906
2560 5,782 829 1,095 1,302 560 1,162 834
2561 6,850 1,050 1,175 1,275 800 1,225 1,325
2562 7,350 1,100 1,175 1,125 1,000 1,475 1,475
2563 7,875 1,100 1,175 1,425 1,000 1,525 1,650

ภาพที่ 3 กราฟแสดงผลคะแนนรวมและคะแนนรายตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้านของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563

กิจกรรมเสวนาออนไลน์ UI GreenMetric World University ปี 2564 The 2nd National Workshop of UI GreenMetric for University in Thailand

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย จัดงานเสวนา The 2nd National Workshop of UI GreenMetric for University in Thailand ผ่านระบบ Cisco Webex พร้อมถ่ายทอดสดทาง Facebook Mahidol University Sustainability โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่

  1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดงานและบรรยายในหัวข้อ “Sustainability in Higher Education” ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย ตามหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ครบทุกมิติ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญ ช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาให้สถาบันอุดมศึกษาเกิดความยั่งยืนต่อไป
  2. Prof. Dr. Ir. Riri Fitri Sari, M.Sc., M.M (Chairperson of UI GreenMetric) บรรยายในหัวข้อ “UI GreenMetric Remarks” ได้กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่าย ทั้งภายในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั้งหมด ที่ให้ความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืนร่วมกัน
  3. Asst. Prof. Junaidi, M.A. (Vice-Chair of UI GreenMetric) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “UI GreenMetric World University Rankings and Its Network in the Time of Pandemic” โดยได้อธิบายถึงหลักการใหม่ที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว ตามหลักเกณฑ์ของ UI GreenMetric พร้อมทั้งให้คำแนะนำในส่วนของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและมีผลต่อการจัดอันดับตามมาตรฐาน UI GreenMetric World University Rankings
  4. Dr. Nyoman Suvartha (Expert Member of UI GreenMetric) กล่าวบรรยายในหัวข้อ 2021 UI GreenMetric Indicators and Data Submission Process โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินและจัดอันดับตามมาตรฐานของ UI GreenMetric รวมถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรแก่ทาง UI GreenMetric
  5. รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวบรรยายในหัวข้อ The Result Comparison of UI GreenMetric World University Rankings in Thailand โดยอธิบายถึงการเปรียบเทียบของผลคะแนนที่แบ่งตามแต่ละเกณฑ์ตัวชี้วัดของกลุ่มมหาวิทยาลัยประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเห็นภาพในการสร้างศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน และเข้าสู่เวทีการจัดอันดับความยั่งยืนในระดับโลกได้

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศและผู้ที่สนใจอื่น ๆ เข้าร่วมรับฟังแนวทางและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวให้สอดคล้องตามเกณฑ์ใหม่ในปี 2021 ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบ Webex Events และรับชมออนไลน์ผ่าน Facebook Live จำนวนทั้งสิ้น 97 คน