ธนาคาร ทิ้ง-ไซเคิล
THINK CYCLE BANK
“ทิ้งแบบหมุนเวียน……เพื่อเปลี่ยนโลก”
ธนาคาร ทิ้ง-ไซเคิล
THINK CYCLE BANK
“ทิ้งแบบหมุนเวียน……เพื่อเปลี่ยนโลก”
มหาวิทยาลัยมหิดลมีปณิธานสำคัญของการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” โดยมีพันธกิจหลักเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรม บนพื้นฐานคุณธรรม เพื่อสังคมไทย และประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน เพื่อหนุนเสริมมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ด้วยการสร้างให้เกิดดุลยภาพของมิติเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย และจากผลสำเร็จของโครงการ “Clean and Clear” ในปี 2551 และการพัฒนาตามแนวยุทธศาสตร์ ในปี 2555 – 2563 มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการต่างๆ มาให้บริการแก่ชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โดยในเบื้องต้นนำร่อง ด้วยการนำองค์ความรู้ในการจัดตั้งและการบริหารจัดการโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัย พร้อมกับการสาธิตและแนะแนวทางการดำเนินโครงการ ตลอดจนการให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการโดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจให้นักเรียน/ครูและผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และเกิดรายได้จากขยะที่ผ่านการคัดแยก เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ร่วมสร้างชุมชนคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์ชุมชนโดยเริ่มจากโรงเรียน ครอบครัว และกระจายสู่สังคม ภายใต้โครงการ “พันธกิจสัมพันธ์ Eco Town มหิดลกับชุมชน” ต่อไป
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมงานเปิดตัวเปิดตัวโครงการ “GC Think Cyecle Bank” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการต่อยอดโครงการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยระบบธนาคารขยะรีไซเคิลออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง ปลูกจิตสำนึกการคัดแยกขยะและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลัก Circular Economy พร้อมสร้างเครือข่ายการจัดการขยะจากระดับครัวเรือนสู่ระดับจังหวัด โดยได้เปิดตัว 12 โรงเรียนนำร่อง พร้อมกับชุมชนในระยอง เพื่อการดำเนินโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ณ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สำนักงานระยอง จ.ระยอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดอบรมการใช้โปรแกรมโครงการ Think Cyecle Bank “ทิ้งแบบหมุนเวียน…เพื่อเปลี่ยนโลก” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการบริหารจัดการขยะ ทั้งการจัดเก็บ การแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชุมชนของตน และมีรายได้จากการนำขยะรีไซเคิลที่รวบรวมมาขายที่ธนาคารขยะเป็นผลพลอยได้อีกด้วย โดยมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วม 10 โรงเรียน ณ ร้านอาหารหาดแสงจันทร์ซีฟู้ด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีจำนวนโรงเรียนในจังหวัดระยองเข้าร่วม จำนวน 22 โรงเรียน และมหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ดำเนินการลงพื้นที่ในการตรวจเยี่ยม แก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนต่างๆ จนสามารถดำเนินการไปได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น (SDGs) นับว่าเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อ 12 (Responsible Consumption And Production) เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การจัดการขยะ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และข้อ 13 (Climate action) เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการจัดและการรับมือภัยพิบัติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อ 8. Decent Work and Economic Growth เป็นกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการจ้างงานที่เท่าเทียมหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม ลดการว่างงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อ 12. Responsible Consumption And Production เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การจัดการขยะ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม