พื้นที่ชุ่มน้ำและการจัดการน้ำผิวดิน

พื้นที่ชุ่มน้ำ

 

         

          พื้นที่โดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เดิมเป็นนาข้าวและนาบัว ปัจจุบันภายในพื้นที่ศาลายายังคงมีลักษณะของพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิมหลงเหลืออยู่จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณตอนเหนือของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และตอนใต้ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นพื้นที่น้ำท่วมในฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้งสลับกันไปตามฤดูกาลธรรมชาติเป็นวัฏจักร มีความหลากหลายทางระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ขึ้นปกคลุมหนาแน่น บริเวณภายในพื้นที่มี  หนองน้ำและที่ลุ่มชื้นแฉะ สามารถพบเห็นพรรณไม้น้ำจำพวก กก ธูปฤาษี อ้อ ฯลฯ ขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณน้ำตื้นพบพรรณไม้ลอยน้ำจำพวก จอก แหน ไข่น้ำ ฯลฯ และยังเอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์หลายชนิด เช่น นกน้ำ นกทุ่ง ผีเสื้อ กระรอก กบ เต่า ตัวเหี้ย สัตว์น้ำ แมลงปอ หนอนและแมลงต่างๆ  โดยเฉพาะเป็นแหล่งอพยพลี้ภัยของนกสัตว์ป่าคุ้มครองและไม่สามารถพบเห็นได้ในเมืองหลายชนิด อาทิ เป็ดแดง        นกเป็ดผีเล็ก นกกะปูดใหญ่ นกชายเลนบึง นกอีโก้ง นกนางนวลธรรมดา นกนางนวลแกลบเคราขาว           นกกาน้ำเล็ก นกกระสาแดง นกยางโทนใหญ่ นกยางควาย นกยางเขียว นกปากห่าง นกกาแวน นกแซงแซวหงอนขน นกกระจาบทอง นกกระเต็นอกขาว นกบั้งรอกใหญ่ นกอีแพรดแถบอกดำ เป็นต้น 

พืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในแง่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การศึกษาพฤติกรรมของนก และห้องเรียนธรรมชาติสำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยจำนวนหลายแห่ง อาทิ คณะวิทยาศาสตร์         คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ เป็นต้น ใช้เป็นสื่อการสอนเกี่ยวกับระบบนิเวศธรรมชาติ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา เป็นต้น นอกจากนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ยังเอื้อต่อการศึกษาวิจัยของนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ตลอดจนอาจารย์และบุคลากรอีกด้วย

มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว ผังแม่บทมหาวิทยาลัยฉบับ ปี พ.ศ. 2551 จึงได้กันพื้นที่ทั้ง 2 แห่งไว้เป็น “พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ” เพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นระบบนิเวศดั้งเดิม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินในกิจกรรมอื่นๆ และกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของการใช้ประโยชน์ที่ดิน

การจัดการน้ำผิวดิน

 

มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีธรรมชาติเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วม ด้วยสภาพพื้นที่เดิมเป็นนาข้าวและนาบัว การพัฒนาพื้นที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2517 ภายหลังที่ได้รับที่ดินเป็นของมหาวิทยาลัย มีการวางพื้นฐานระบบจัดการน้ำผิวดินโดยผังแม่บทมหาวิทยาลัยปี พ.ศ. 2540 ได้จัดวางระบบคูคลองหลักซึ่งเป็นคูคลองขนาดใหญ่บริเวณรอบนอกตามแนวขอบพื้นที่มหาวิทยาลัยและบริเวณรอบในพื้นที่ พร้อมวางระบบระบายน้ำย่อย    มีแนวคูระบายน้ำเชื่อมต่อกันครบวงจร นับว่าเป็นระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ทั้งพื้นที่มหาวิทยาลัย

การพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยในระยะเวลาที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบคูคลองไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลอง โดยได้มีการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่บริเวณสนามเปตอง และขุดคลองเพิ่มบริเวณด้านทิศใต้ของโซนพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมต่อคูคลองหลักเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการไหลเวียนน้ำเชื่อมต่อกันเป็นระบบ ขุดลอกคูคลองหลักเพื่อการระบายน้ำที่ดีและลดการเน่าเสียของน้ำ การลอกท่อระบายน้ำเดิมและวางท่อระบายน้ำใหม่ ตลอดจนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำย่อยบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน สร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัยเพื่อรวบรวมและบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่คูคลองสาธารณะ ลดปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

สำหรับการจัดการระบบระบายน้ำฝนและน้ำผิวดิน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ใช้การระบายด้วย บึงน้ำใหญ่ บ่อน้ำ คูระบายน้ำ ระบบรางเปิด และท่อระบายน้ำ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ระบายลงสู่คูคลองหลักในแนวข้างถนนสายหลักและสายรอง รวบรวมน้ำฝนและน้ำผิวดินไปยังสถานีสูบน้ำออก 2 จุด ได้แก่ อาคารชลศาสตร์ 1 บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารชลศาสตร์ 2 มุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังใช้สถานีสูบน้ำดังกล่าวในการควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่ต้องการเพื่อให้ภูมิทัศน์และทัศนียภาพริมคูคลอง บ่อน้ำต่างๆ สวยงามอยู่เสมอ และพร่องน้ำในช่วง    ฤดูฝนเพื่อป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมขัง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้วางระบบรดน้ำต้นไม้ สูบน้ำจากคูคลอง รวมทั้งน้ำจากการบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาต้นไม้ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด

                    พื้นที่ชุ่มน้ำและการจัดการน้ำผิวดิน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs)

                   เป้าที่ 6  พื้นที่กิจกรรมหรือโครงการด้านการจัดการน้ำเสีย และมลภาวะทางน้ำ การอนุรักษ์น้ำ การนำน้ำมาใช้หรือการชลประทานที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางน้ำ

                   เป้าที่ 7  พื้นที่กิจกรรมหรือโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดใช้พลังงาน ส่งเสริมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

                   เป้าที่ 13  พื้นที่กิจกรรมหรือโครงการด้านการจัดการรับมือภัยพิบัติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

                   เป้าที่ 14  พื้นที่กิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ระบบนิเวศทางน้ำ

                   เป้าที่ 15  พื้นที่การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ระบบนิเวศทางบก ความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ประจำถิ่น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน