ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพื่อส่งเสริมการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านการลดการใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564
มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มดำเนินโครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก (Reduce Plastic: Say NO Plastic bags)” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 เพื่อช่วยการก่อขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยขอความร่วมมือจากเครือข่ายร้านสะดวกซื้อภายในวิทยาเขตศาลายา ในการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยหยุดให้บริการถุงพลาสติก และการส่งเสริมการนำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ โดยการติดตั้งกล่องรับบริจาคถุงพลาสติกที่ใช้แล้วบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้บริการถุงพลาสติกมือสอง
ปี | ปริมาณถุงพลาสติกที่ลดลง (ใบ) | ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง (ton CO2 eq) |
2559 1/ | 1,383,424 | 276.68 |
2560 | 2,706,000 | 541.20 |
2561 | 2,654,000 | 530.80 |
2562 | 1,107,573 | 221.51 |
2563 2/,3/ | 794,607 | 158.92 |
รวม | 8,645,604 | 1,729 |
หมายเหตุ: 1/ เริ่มโครงการเดือนสิงหาคม 2559
2/ วันที่ 1 มกราคม 2563 ดีเดย์ประเทศไทยงดแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ตามมติตณะรัฐมนตรี ภายใต้ Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
3/ เดือนเมษายน – สิงหาคม พ.ศ. 2563 มี 2 ร้านที่ปิดทำการชั่วคราว อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งมหาวิทยาลัยมีมาตรการให้บุคลากร Work from home ร้อยละ 40
และนักศึกษาเรียนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด
จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนถุงพลาสติกที่งดแจกให้ผู้มารับบริการที่ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย พบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการปี พ.ศ. 2559-2563 มีปริมาณถุงพลาสติกที่ลดลง 8,645,604 ใบ คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,729 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (กระบวนการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.2 kg CO2 eq) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 Climate Action รวมทั้งยังเป็นการช่วยการก่อขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และพัฒนาต่อยอดให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 Responsible Consumption and Production อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมการลดใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากนักศึกษา บุคลากร ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ