ตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติ

ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพื่อส่งเสริมการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านการลดการใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol No Plastic) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564

สืบเนื่องจากกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้แก้วพลาสติก ในปี พ.ศ. 2563 กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจึงได้ติดตั้งตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติจำนวน 8 ตู้ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมและสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรนำแก้วส่วนตัวมากดน้ำดื่มจากตู้กดน้ำระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะขวดพลาสติกจากการซื้อน้ำบริโภค และช่วยลดการสัมผัสของผู้ใช้งานทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ อีกทั้งยังช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรได้ดื่มน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean water and sanitation)

โดยตู้กดน้ำดังกล่าวจะใช้ระบบ UF +UV ที่สามารถกรองแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ และยังคงรักษาแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ ซึ่งไส้กรองน้ำได้รับรองมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มจากสถาบัน NSF (National Sanitary Foundation) โดยได้ติดตั้งใน 4 จุด รอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่

  • อาคารสิริวิทยา จำนวน 1 ตู้ (หน้าห้องน้ำหญิงชั้น 1)
  • อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล จำนวน 4 ตู้ (ศูนย์อาหารและลานดอกกันภัยมหิดล)
  • อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จำนวน 1 ตู้ (อาคารใบไม้สามใบ)
  • อาคารสำนักงานอธิการบดี จำนวน 2 ตู้ (หลังห้องประชุมชั้น 1 ฝั่งทิศเหนือและทิศใต้)

ตู้กดน้ำอัตโนมัติจะแสดงผลจำนวนขวดน้ำที่ถูกใช้ซ้ำ (Reused Bottle) เมื่อน้ำถูกกดไปแล้ว 600 มิลลิลิตร จะคิดเป็น 1 ขวด โดยโครงการดังกล่าวได้ติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – มีนาคม 2564 มีปริมาณน้ำที่ถูกกดไป 182,591 ลิตร สามารถนับเป็นขวดน้ำที่นำมาใช้ซ้ำจำนวน 304,318 ขวด คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 176.76 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดวัฏจักรวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 600 มิลลิลิตร 1 โหล ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.97 kg CO2 eq)

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) รวมทั้งยังเป็นการช่วยการก่อขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และพัฒนาต่อยอดให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)