การพัฒนาทักษะด้าน ESG เพื่ออาชีพแห่งความยั่งยืน

ภายใต้ โครงการสร้างผู้นำนักศึกษาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดแผนงานขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการด้วยเช่นกัน จึงมีการจัดอบรมการพัฒนาทักษะด้าน ESG (Environment, Social, Governance) เพื่ออาชีพแห่งความยั่งยืนภายใต้โครงการสร้างผู้นำนักศึกษาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความรู้และทักษะสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่ต้องการความสามารถในการประยุกต์ทักษะในงานของตน ให้เข้ากับกรอบแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใช้ ESG เป็นฐานในการพัฒนา สิ่งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และทำให้มองประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติใกล้ตัว เป็นรูปธรรมมากขึ้น

แนวคิด ESG คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) จึงควรเป็นทักษะในการทำงานของบัณฑิตในทุกศาสตร์ เพื่อนำมาพิจารณาวิเคราะห์ และบริหารองค์กรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะให้ความสำคัญกับองค์กรและกิจกรรมที่คำนึงถึงความรับผิดชอบที่ใช้เป็นตัวชี้วัด ได้แก่

  • Environment (สิ่งแวดล้อม) ชี้วัดความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) การสร้างของเสีย และการปล่อยมลพิษ
  • Social (สังคม) ใช้วัดผลกระทบเชิงสังคมและการจัดการความสัมพันธ์กับ พนักงาน ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ชุมชนท้องถิ่น และผู้ทำงานใน Value Chain อาทิ สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  • Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งช่วยชี้วัดการกำกับดูแลองค์กร เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

 

มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดอบรมการพัฒนาทักษะด้าน ESG เพื่ออาชีพแห่งความยั่งยืน ภายใต้โครงการสร้างผู้นำนักศึกษาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดรับสมัครและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการร่วมโครงการ ตั้งแต่บัดนี้ – 24 มีนาคม 2566สมัครอบรม Click และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครบตามที่กำหนด จะได้รับคะแนนกิจกรรม (Activity Transcript) ในหัวข้อ Environmental Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 16 ชั่วโมง