โครงการผลิตปุ๋ยหมัก

(Compost Production Project)

มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดทำผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517และได้มีการปรับปรุงผังแม่บทเมื่อปี พ.ศ.2535 อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุปัจจัยหลายด้านทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก เศรษกิจ สังคม บทบาทและความต้องการพัฒนาตัวเองของมหาวิทยาลัย รวมถึงความต้องการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินภารกิจของคณะ/สถาบันต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามหาวิทยาลัยประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ปัญหาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาระบบสัญจรและการจอดรถ ปัญหาระบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาระบบที่ว่างและภูมิทัศน์ ปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมขังและการระบายน้ำ ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาสุนัขจรจัด เป็นต้น มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินโครงการ “Clean and Clear” ในปี 2551  โดยการรื้อถอนเศษวัสดุและทำความสะอาดพื้นที่ว่างและสวนรวมถึงการตัดแต่งต้นไม้ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม

รวมถึงได้จัดทำ “โครงการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชด้วยระบบกองเติมอากาศ” ในปีเดียวกันเพื่อนำขยะจากเศษกิ่งไม้ ใบไม้ที่มีจำนวนมากจากหน่วยงาน และจากพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการเผาทำลาย ลดต้นทุนการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยหมัก  และใช้พื้นที่บริเวณอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการผลิตปุ๋ยหมักและ ให้หน่วยงานต่างๆและบริษัทที่รับเหมาบริการให้กับมหาวิทยาลัย (Outsource) ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดสามารถนำขยะประเภทเศษพืชนำเข้ามาทิ้ง โดยเจ้าหน้าที่ผลิตปุ๋ยจะดำเนินการบดย่อยและเข้าสู่กระบวนการหมักใช้ระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์แล้วจึงนำออกตากแดดให้แห้งแล้วนำมาบดอีกครั้ง ทิ้งให้จุลินทรีย์สงบใช้เวลาประมาณ 3 วันแล้วจึงนำไปใช้หรือจำหน่าย โดยปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ส่งตัวอย่างทดสอบและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมจนถึงปัจจุบัน (2551 – 2563) สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้จำนวน 323,910 กิโลกรัม จำหน่ายปุ๋ยหมักได้มูลค่า 1,822,081.00 บาท และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก