Carbon Emission: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero emission) พ.ศ.2564 เพื่อสอดรับกับข้อตกลงในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 24 (COP24) ที่มุ่งเป้าสู่การบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ ภายในปี พ.ศ.2473 (ค.ศ.2030) และเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และกำหนดแผนของมหาวิทยาลัยมหิดล “9 to Zero” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี หรือ ภายในปี พ.ศ.2473

มหาวิทยาลัยมหิดล มีส่วนงาน หน่วยงาน และกลุ่มภารกิจในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตกาญจนบุรี บัณฑิตวิทยาลัย หอสมุดและคลังความรู้ คณะ 16 คณะ สถาบัน 7 สถาบัน วิทยาลัย 6 วิทยาลัย ศูนย์ 10 ศูนย์ กองงานในสำนักงานอธิการบดี 12 กองงาน และโครงการจัดตั้งวิทยาเขต 2 โครงการ โดยการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHGs) คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Greenhouse Gas Emission)  ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ที่อยู่กับที่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการรั่วไหลและอื่น ๆ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องจักรที่อยู่กับที่ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะขององค์กร การรั่วไหลของคาร์บอนไดออกไซด์ของถังดับเพลิง

ประเภทที่ 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Greenhouse Gas Emission) ซึ่งในที่นี้ ประเมินจากการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง

ประเภทที่ 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other  Indirect Emissions) ซึ่งในที่นี้ ประเมินจากการซื้อน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง ซึ่งเป็นกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อวัตถุดิบและบริการ

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564)  ซึ่งกำหนดเป็นปีฐาน (Baseline year) เท่ากับ 31,244.05 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และประจำปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) เท่ากับ 30,072 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังตารางที่ 1 ซึ่งจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัย สามารถติดตามการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผน “9 to Zero” เพื่อบริหารจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เป้าหมายที่ 13: Climate Action ได้

 

ตารางที่ 1 ตารางแสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาในปีงบประมาณ 2564 (Baseline year) และ ปีงบประมาณ 2565

ประเภท ประเภทของกิจกรรม กิจกรรม วิธีการคำนวน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (tCO2e)
2564
(Baseline year)
2565
ประเภทที่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง การใช้น้ำมันเชื้องเพลิงในเครื่องจักรที่อยู่กับที่
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะขององค์กร
การรั่วไหลของคาร์บอนไดออกไซด์ของถังดับเพลิง
ปริมาณที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปริมาณสารที่รั่วไหล x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

1,727.86 563.86
ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากพลังงาน การใช้ไฟฟ้าของอาคาร ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 29,039.84 29,011.48
ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ การใช้น้ำประปา ปริมาณน้ำประปาที่ใช้ x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 476.35 496.70
   รวม 31,244.05 30,072.04

หมายเหตุ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission factor) อ้างอิงตาม The Working Group I contribution to the IPCC Fifth Assessment Report. Table 2.2, 3.2.1, 3.2.2, DEDE และ Thai National LCI Database, TIISMTEC-NSTDA, AR5 (with TGO electricity 2016-2018)