ระบบบำบัดน้ำเสีย

มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัย ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยมีลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อธรรมชาติ (Oxidation Pond) ซึ่งในปัจจุบันประสบกับปัญหาประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาคารและจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ประกอบกับระบบเดิมซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี มีการชำรุดเสียหายของระบบ การขาดการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งพบว่ามีการทิ้งน้ำเสียจากบางส่วนงานลงสู่คูคลองสาธารณะ และรางระบายน้ำฝนของมหาวิทยาลัย ทำให้แหล่งน้ำผิวดินเกิดการเน่าเสีย จึงมีการศึกษา สำรวจ ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งออกแบบเพื่อรองรับน้ำเสียจากอาคารต่างๆ ในปัจจุบัน รวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กำหนดปริมาณการรองรับน้ำเสีย 6,000 ลบ.ม./วัน โดยในระยะแรกได้ออกแบบเพื่อรองรับน้ำเสียจากบ้านมหิดล ที่เป็นที่ตั้งกลุ่มอาคารหอพักนักศึกษาแต่จากสภาพปัจจุบันในพื้นที่มีปัญหาการเน่าเสียของน้ำบริเวณคูคลองโดยรอบอย่างรุนแรง

วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาระบบบัดบัดน้ำเสียส่วนกลางของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายการบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งประเภท ก. (น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20 mg/l) ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
2) เพื่อแก้ไขและป้องกันการทิ้งน้ำเสียจากส่วนงานต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในระยะยาว
3) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการระบบน้ำผิวดิน และระบบบำบัดน้ำเสีย ภายในมหาวิทยาลัย มหิดล มีสภาพเรียบร้อยสวยงาม ถูกต้องตามมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

พื้นที่
ครอบคลุมพื้นที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียรวม ด้านทิศตะวันตกของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีขนาดพื้นที่รวม ประมาณ 2 ไร่

ระบบบำบัดน้ำเสีย มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นระบบบำบัดแบบ Activated Sludge  สามารถรองรับน้ำเสียได้ 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน ปัจจุบัน รวบรวมน้ำเสีย 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน จาก 17 หน่วยงาน คิดเป็น 60%  ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยน้ำเสียจากห้องน้ำ  โรงอาหาร และห้องปฏิบัติการ

ระบบบำบัดน้ำเสีย Activated Sludge จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ถังเติมอากาศ (Aeration Tank) และถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยน้ำเสียจะถูกส่งเข้าถังเติมอากาศ ซึ่งมีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้อยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ในที่สุดน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลต่อไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกสลัดจ์ออกจากน้ำใส สลัดจ์ที่แยกตัวอยู่ที่ก้นถังตกตะกอนส่วนหนึ่งจะถูกสูบกลับเข้าไปในถังเติมอากาศใหม่เพื่อรักษาความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในถังเติมอากาศให้ได้ตามที่กำหนด และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นสลัดจ์ส่วนเกิน (Excess Sludge) โดยนำไปทำปุ๋ยต่อไป สำหรับน้ำใสส่วนบนจะเป็นน้ำทิ้งถูกส่งต่อไปบ่อสัมผัสคลอรีน โดยจะใช้ไบโอคลอรีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) จึงนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้ในหน่วยงานดังนี้ ระบบบำบัดน้ำเสีย  ลานจอดรถบัส  คณะสัตวแพทยศาสตร์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  และศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ โดยนำน้ำไปใช้รดน้ำต้นไม้  ล้างเครื่องจักรอุปกรณ์  ล้างพื้นคอกม้า  ล้างกรงสัตว์  และล้างรถบัส

วันที่ 25 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ผ่านการประเมินโครงการ “อาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย” ระดับทอง โดยนายพุฒิเศรษฐ์   ตันติเมฆิน ผู้อำนวยการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัย เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณยกย่องหน่วยงานที่ผ่านการประเมินโครงการ “อาคารราชการต้นแบบในการจัดการน้ำเสีย” กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม