มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Building a Culture of Health Promotion: Fostering Mental Health Awareness and Support on Campus“
วันที่ 21 – 22 มีนาคม 2567 สำนักงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) จัดการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Building a Culture of Health Promotion: Fostering Mental Health Awareness and Support on Campus” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนผู้อํานวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) กล่าวรายงาน จากนั้น ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน พร้อมด้วย ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) ประจำปี 2566 กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยมี คณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) และแขกผู้มีเกียรติจากสถาบันทางการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องราชมณเฑียรแกรนด์บอลรูม โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัย เข้ารับรางวัลมหาวิทยาลัยไทยที่เข้าร่วมการประเมิน Healthy University Rating System (HURS) ปี 2023 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว และได้รับผลประเมินในระดับ 4 ดาว โดยมี ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และรองเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ระบบประเมินมหาวิทยาลัยสุขภาวะ Healthy University Rating System (HURS)”
ภายในการประชุม มีการบรรยายความรู้ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นไทย อาทิ หัวข้อ “สถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย” โดย ดร. นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อ “บทบาทของสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของนิสิต นักศึกษา” โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) ประจำปี 2566 หัวข้อ “สถานการณ์ “ซึมเศร้า” ของนิสิต-นักศึกษาไทย: ผลการสำรวจภาวะสุขภาพจิต โดยโครงการมหาวิทยาลัยแห่งความสุข (Happy University)” โดย อาจารย์ ดร.นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “โครงการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะจิตของนิสิต นักศึกษา และการส่งเสริมกลไกการดูแลด้านสุขภาพจิตในเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ นักวิจัยสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงการจัดเวทีเสวนาวิชาการ (Roundtable Discussion) เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เรื่อง “สถานการณ์สุขภาพจิตของนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย: ปัญหาและวิธีการ” โดย คณะผู้บริหารและผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 10 และพิธีส่งมอบประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในปีถัดไป รวมถึงกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ และการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาทักษะด้านการดูแลสุขภาพจิตให้นักศึกษา และการจัดนิทรรศการ เรื่อง “Mindful Wellness: Fostering Mental Wellbeing” ด้วย
การประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2567 เพื่อเป็นเป็นเวทีสำหรับเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) และมหาวิทยาลัยไทยอื่น ๆ ที่สนใจ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิตและพัฒนากลไกการดูแลด้านสุขภาพจิตในเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยที่เป็นแกนนำระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน การทำวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการขยายเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถนำกรอบแนวทางมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพไปปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพ” ในระดับนานาชาติ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล