“ไบโอดีเซล” (BIODIESEL)
“ไบโอดีเซล” (BIODIESEL)
ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีแนวคิดนำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหารกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอีกประเภทหนึ่ง สามารถใช้ต้นทุนในการผลิตไบโอดีเซลเพียง 20-24 บาท ต่อ 1 ลิตร เท่านั้น เพื่อนำไบโอดีเซลที่ได้จากกระบวนการผลิตนำไปใช้กับรถขนของ รถบรรทุกต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย และนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบอีกด้วย
โดยได้ริเริ่มโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ในปี พ.ศ. 2560 ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ที่มีศูนย์อาหารกลางซึ่งสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากกว่า 1,000 คน ทำให้ศูนย์อาหารแห่งนี้เกิดน้ำมันใช้แล้วจากการทอดซ้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ประกอบการร้านค้ากำจัดไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ จึงได้นำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยใช้ปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างไขมันหรือน้ำมันกับแอลกอฮอล์ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นเอสเทอร์และกลีเซอรอล โดยมีตัวเร่งในปฏิกิริยา ซึ่งมีขั้นตอน คือ กรองน้ำมันทอดซ้ำ จำนวน 50 ลิตร ผ่านถังกรอง แล้วปั๊มมาไว้ที่ถังทำปฏิกิริยา เพื่อต้มไล่ความชื้น ที่อุณหภูมิ 110 ºC เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นรอน้ำมันเย็นที่อุณหภูมิประมาณ 50-55 ºC หลังจากนั้นเตรียมสารเคมีสำหรับน้ำมันไบโอดีเซล โดยเติมเมทานอล 10 ลิตร ในถังผสมสาร ค่อยๆ เติมโปแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 600 กรัม ลงผสมในถัง กวนสารให้เข้ากัน จากนั้นปล่อยสารผสมลงในถังทำปฏิกิริยา แล้วตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 50-55 ºC กวนสารเป็นเวลา 10 นาที เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทิ้งให้น้ำมันเกิดการแยกชั้นซึ่งใช้เวลา 6 ชั่วโมง โดยจะปล่อยส่วนกลีเซอรีนที่อยู่ด้านล่างออกเก็บไว้ในถังเก็บกลีเซอรีน และนำน้ำมันไบโอดีเซลส่วนที่เหลือในถังล้างน้ำเพื่อทำความสะอาดประมาณ 3-4 ครั้ง จากนั้นนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้มาต้มไล่ความชื้นอีกครั้ง พักให้เย็น จึงปั๊มมาเก็บไว้ที่ถังเก็บไบโอดีเซล ในการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจะได้ผลิตภัณฑ์ประมาณ 80% ของน้ำมันพืชใช้แล้วที่เป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ซึ่งสามารถนำไปใช้กับรถขนของภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เกิดการนำมาใช้ใหม่ ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบการจัดการน้ำมันใช้แล้วอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและบุคคลภายนอกได้มาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชุมชน องค์กร หรือหน่วยงานของตนเอง โดยมีกลุ่มบุคคล นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงาน ขอเข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ที่ขอเข้าศึกษาดูงาน มากกว่า 350 คน อาทิเช่น
• มหาวิทยาลัยบูรพา
• มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
• มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
• มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
• มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
• วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
• คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร