วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์” ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด โดยมี นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด และ นายอาคม มานะแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำสัญญาข้อตกลงทำความร่วมมือกับ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด เพื่อดำเนิน “โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์” โดยร่วมกันติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 14 เมกกะวัตต์ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,487 ตันต่อปี หรือ 21% พร้อมทั้ง วางแผนในการขยายพื้นที่ในการติดตั้ง Solar Rooftop ไปยังพื้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยังยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้กำหนดนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ.2573 โดยใช้แผน “9 to Zero” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” ซึ่งเป็นแผนของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยให้สุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี ด้วย 9 หลักการ ดังนี้ การใช้พลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลดหรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์ และการพัฒนารูปแบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวันนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะแรก ด้วยก้าวที่ 1 คือ การใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายไว้