ในวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างผู้นำของส่วนงานในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและวางแผนการดำเนินกิจกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้กับผู้แทนของทุกส่วนงาน โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหิดล เป็นประธานเปิดโครงการ
จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เสริมพลังการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” ที่บรรยายถึง 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ.2566-2570 การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย และบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Eco University and Sustainability Policy) ที่มี 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ กลยุทธ์ที่ 1 การเติบโตสู่องค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable growth) กลยุทธ์ที่ 2 การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable growth) และกลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable growth) และการสร้างผู้นำของส่วนงานที่จะช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ได้มีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มย่อย (Workshop) จากผู้เข้าอบรมที่เป็นผู้แทนในระดับผู้บริหารของส่วนงานจาก 44 ส่วนงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน ผู้ช่วยอาจารย์ ภาณุวัฒน์ ประเสริฐพงษ์ ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ และดร.ชญาทัต เนียมแสวง จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ให้คำแนะนำในการจัดทำแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของการดำเนินงานตามนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ผู้เข้าอบรมร่วมกันวิเคราะห์ภายในกลุ่มว่าในแต่ละกลยุทธ์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอย่างไร พร้อมทั้งเสนอแผนการปฏิบัติงานดังกล่าวต่อผู้เข้าร่วมอบรมท่านอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตได้