โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดทำผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517และได้มีการปรับปรุงผังแม่บทเมื่อปี พ.ศ.2535 อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุปัจจัยหลายด้านทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก เศรษกิจ สังคม บทบาทและความต้องการพัฒนาตัวเองของมหาวิทยาลัย รวมถึงความต้องการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินภารกิจของคณะ/สถาบันต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามหาวิทยาลัยประสบปัญหาในหลายๆด้าน ได้แก่ ปัญหาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาระบบสัญจรและการจอดรถ ปัญหาระบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาระบบที่ว่างและภูมิทัศน์ ปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมขังและการระบายน้ำ ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาสุนัขจรจัด เป็นต้น มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินโครงการ “Clean and Clear” ในปี 2551 โดยการรื้อนถอนเศษวัสดุและทำความสะอาดพื้นที่ว่างและสวนรวมถึงการตัดแต่งต้นไม้ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
รวมถึงได้จัดทำ “โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ” ในปี 2552 ณ อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้ ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงาน นักศึกษา บุคลากร มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ที่เกิดจากเศษอาหาร เพื่อลดการปนเปื้อนขยะทั่วไป และนำขยะอินทรีย์ที่ผ่านการคัดแยกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาหมักร่วมกับกากน้ำตาลและนำไปใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสีย หรือกำจัดกลิ่นเหม็นจากขยะมูลฝอย และใช้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่รกร้างโดยการใช้จุลลินทรีย์ในการเร่งการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินเพื่อให้ดินมีสภาพดี
ปัจจุบันการดำเนินโครงได้มีปรับรูปแบบเนื่องจากอุปสรรคในการขนย้ายเศษอาหารและการนำมาหมัก จึงได้มีการรวบรวมเศษอาหารและจำหน่ายให้กับเกษตรกรนำไปเลี้ยงสุกร หรือปลา โดยผ่านการประมูลและนำรายได้เข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนการผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ดำเนินการผลิตโดยการนำหัวเชื้อบริสุทธิ์ EM (Effective Microorganisms) มาผสมกับกากน้ำตาลแล้วหมักไว้ 3 วัน แล้วจึงให้เปิดบริการแก่บุคลทั่วไป
โดยสามารถรับบริการได้ในวันและเวลาราชการ ในอัตราคนละ 5 ลิตร /คน/วัน (ฟรี) และถ้าเกินตามอัตราที่กำหนด มหาวิทยาลัยจะคิดค่าในอัตราลิตร ละ 5 บาท โดยนำรายได้เข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมหิดล