ประวัติ

คุณหมอสาธิตเข้ามารับหน้าที่เป็นรองอธิการบดีสายการเงินการคลังของมหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากที่มหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้ ๑ เดือน ความกังวลของคุณหมอคือ จะดูแลเงินของมหาวิทยาลัยอย่างไร เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์ดีกว่าที่ทำๆ กันอยู่ ประสบการณ์สมัยที่คุณหมอเป็นรองคณบดีฝ่ายการคลังของคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะที่ทำแผนการลงทุนของคณะเสนอต่อมหาวิทยาลัย ก็คิดเสมอว่า “เราไม่ใช่นักการเงินมืออาชีพ เราไม่น่าจะบริหารเงินได้ดี” ด้วยความคิดนั้นจึงได้ริเริ่มคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อมอบหมายเงินของคณะบางส่วนให้ไปบริหารในเวลาใกล้เคียงกัน ทางคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ก็ได้ดำเนินการในทำนองเดียวกัน จึงเป็นสองคณะในมหาวิทยาลัยที่มีการจ้าง บลจ. ให้บริหารเงินบางส่วนของคณะ การจ้าง บลจ. บริหารเงิน บริษัทจะมาพูดวิเคราะห์สถานการณ์ให้ฟังทุก ๓ เดือน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เมื่อมารับงานดูแลเงินของท้ั้งมหาวิทยาลัย คุณหมอเห็นทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ

  • ดูแลบริหารเฉพาะเงินของสำนักอธิการบดี ซึ่งมีน้อยกว่าที่เคยดูแลขณะที่เป็นรองคณบดีด้านการคลัง ของคณะแพทย์ฯ รามาธิบดี และศิริราช แล้วปล่อยให้คณะต่างๆ บริหารเงินของตนเองต่อไป ดังที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา ทำแบบนี้งานก็ง่าย

  • ถ้าจะดูแลรับผิดชอบบริหารเงินให้ “มหาวิทยาลัย” โดยรวม เพราะเห็นแล้วว่า คณะต่างๆ ไม่ถนัดการบริหารเงิน ก็ไม่สบายใจที่จะต้องทำแผนการลงทุนโดยที่ตนเองไม่ถนัด ถ้าจะเลือกแนวทางนี้ก็จำเป็นต้องหานักการเงินมืออาชีพมาทำ จ้างคนหรือจ้างบริษัท

ในการพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยควรจ้างนักการเงินมาทำงานโดยตรง หรือว่าจ้าง บลจ. ให้บริหารเงินให้ คุณหมอมองย้อนกลับไปหาประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะได้ติดตามเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างส่วนที่ทำเองกับส่วนที่ว่าจ้างให้ บลจ. บริหารอย่างสม่ำเสมอ และพบว่าตัวเลขผลตอบแทนที่ บลจ. ทำให้ไม่ได้ดีกว่าที่คณะทำเอง

คุณหมอประเมินว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า ความคาดหมายของมหาวิทยาลัย (หรือคณะฯ ในเวลานั้น) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง กับ บลจ. ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ไม่ตรงกัน เงินของมหาวิทยาลัยในบลจ. เป็นเงินเล็กนิดเดียวในสายตาของ บลจ. ฝ่าย บลจ. จึงไม่เอาใจใส่ดูแลเงินที่มอบหมายไป เท่ากับที่ฝ่ายมหาวิทยาลัยคาด เมื่อสรุปว่า “น่าจะทำเอง” กลุ่มผู้บริหารซึ่งคิดตรงกันว่า “ทำเองได้ไง” หมอทำไม่เป็น และเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ก็ทำไม่เป็นอย่างนักการเงินมืออาชีพ ก็ต้องหาคนที่เป็นนักการเงินโดยอาชีพมาช่วยดูแลเงินทั้งมหาวิทยาลัย ในฐานะเป็นคนของมหาวิทยาลัยเอง

ปัญหาตรงนี้คือ

  • จะหาคนมาจากไหน กำกับดูแลเขาอย่างไร

  • กรรมการบางท่านทักท้วงว่า ทำได้ตามกฏหมายแน่หรือ

ปัญหาข้อ ๒ แก้ไขโดยการส่งเรื่องถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้รับคำตอบมาในเวลาไม่นาน ปัญหาด้านการหาคน รองอธิการบดีได้สอบถามขอคำแนะนำจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้ชำนาญด้านการบริหารเงิน และได้รับชื่อ น.ส. อัจฉรา มาพร้อมคุณสมบัติประกอบมาด้วยว่า “เคยเป็นผู้บริหารการลงทุนตราสารหนี้ให้ กบข. ซึ่งตอนนั้นทำคนเดียวทั้งหมด ยืนยันได้ในความรอบรู้ ความใส่ใจในงาน และความสุจริตในอดีต คุณหมอต้องดูเองว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ ส่วนความสุจริตและผลงานในอนาคตอยู่ที่คุณหมอจะกำกับดูแล” ด้วยคุณสมบัติต่อท้ายว่าบุคคลนี้ เพิ่งสิ้นสุดสัญญาเป็นผู้จัดการใหญ่ของ บลจ. แห่งหนึ่ง คุณหมอก็กังวลว่า “เขาจะมาหรือครับ” ด้วยคำตอบที่ท้าทายว่า
“ก็แล้วแต่คุณหมอว่าจะทำให้เขาสนใจงานใหม่ได้หรือไม่”

เมื่อเชิญมาสัมภาษณ์แล้วเห็นว่าไปกันได้ และนักการเงินคนนั้นมีจุดยืนว่าเงินเดือนไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด และชื่อตำแหน่งก็ไม่สำคัญ มหาวิทยาลัยจึงได้คนที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตรงกับความต้องการมาเป็นหัวหน้าหน่วยบริหารสินทรัพย์ หน่วยงานเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อการนี้ และรายงานตรงต่อรองอธิการบดี เป็นพนักงานสายสนับสนุนคนแรกของมหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกกำกับควบคุมเวลาทำงาน โดยดูที่ตัวงานเป็นหลักเช่นเดียวกับสายคณาจารย์

จัดระบบรองรับงาน

รองอธิการบดีทราบดีว่า การบริหารเงินเป็นเรื่องที่เสี่ยง ผู้ที่เกี่ยวข้องมักไม่กล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับผลงานที่ไม่แน่ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ การเลือกจ้าง บลจ. ให้บริหารเงินให้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารสามารถผลักความเสี่ยงไปจากตนได้ เพราะสามารถตอบได้ว่า “จ้างมืออาชีพแล้ว” ในการตั้งศูนย์ฯ เพื่อบริหารเงินเอง จึงต้องนำระบบมาป้องกันตน ดังที่เคยทำมาสมัยที่เป็นรองคณบดีดูแลด้านการคลัง สมัยนั้น สิ่งที่วางแผนจะทำ ถ้าเป็นเงินของคณะ คณะและกรรมการประจำคณะดูก่อน แล้วให้ศูนย์ฯ ดู แล้วยังนำทั้งหมดให้สภาฯ ดู กระบวนการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานได้ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงของทั้งผู้ปฏิบัติงาน และของเงินของมหาวิทยาลัย

ดังน้ันเมื่อหาคนได้แล้ว ก็เริ่มจัดทำข้อบังคับของหน่วยงานใหม่ ว่าจะบริหารกันอย่างไร บริหารอะไรบ้าง พร้อมทั้งเสนอให้สภามหาวิทยาลัยต้้ังคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่กำกับและดูแลนโยบายการหาประโยชน์จากเงินรายได้ กรรมการชุดแรกที่ได้เสนอรายชื่อเพื่อขอรับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นนักการเงินที่มีประสบการณ์ในการบริหารเงินสถาบัน ได้แก่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยสองคน คือ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย (ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)) กับ น.ส. นวพร เรืองสกุล (เลขาธิการคนแรกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข)) กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายวิสิษฐ์ ตันติสุนทร (เลขาธิการ กบข.) กับ นางรัศม์ชญา กุลวานิชไชยนันท์ (ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเงินการบัญชีีและการลงทุน สำนักงานประกันสังคม) กรรมการจากบุคคลภายในได้แก่ รองคณบดีด้านการคลัง ในฐานะตัวแทนของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชฯ และรามาฯ​ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง ทำหน้าที่ประธานตามที่อธิการบดีมอบหมาย งานของคณะกรรมการที่กำกับดูแลการหาประโยชน์จากงานรายได้ ทำหน้าที่ด้านกำกับดูแลการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางการเงิน และยังดูแลกลั่นกรองงานด้านการลงทุนอื่นๆ เชิงธุรกิจของมหาวิทยาลัยด้วย

งานด้านการลงทุนเดินหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มด้วยการกำหนดนโยบายการลงทุน คือมีการกำหนดสัดส่วนที่พึงลงทุน (asset allocation) ในแต่ละกลุ่มตราสารการเงิน (asset class) เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า งานลงทุนไม่ใช่การมุ่งแต่ทำตัวเลขรายได้ทุกไตรมาสหรือทุกปีให้ชนะผู้อื่นอย่างเดียว แต่ต้องรักษาวินัยการลงทุนให้อยู่ในกรอบของ asset allocation ที่กำหนดด้วย สำหรับการลงทุนในกิจการใด ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ หรือหุ้นทุน ต้องวิเคราะห์กิจการก่อน ทำหลักเกณฑ์ และเสนอรายชื่อ ก่อนลงทุน และต้องติดตามผลประกอบการของกิจการเหล่านั้นโดยตลอด (คือวิเคราะห์ credit risk) สำหรับการลงทุนในหุ้นทุน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในการบริหารเงินของมหาวิทยาลัย แม้จะลดความเสี่ยงทั้งหมด (portfolio risk) ด้วย asset allocation แล้ว กรรมการยังให้ระวังเพิ่มขึ้นอีกโดยกำหนดนโยบายว่า ไม่ต้องการเห็นผลประกอบการขาดทุนเลย ให้ค่อยๆ สะสมกำไรไว้ ต่อไปเมื่อลงเต็ม asset allocation แล้ว หากจะขาดทุนในบางปี หรือบางไตรมาส ก็จะเป็นการขาดทุนกำไรเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันพนักงานและนโยบายมิให้บุคคลที่ไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนในหุ้นนัก หวั่นเกรงการลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจจะกำไรมากก็ได้ ขาดทุนมากก็ได้ และตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเลิกลงทุนในหุ้น (เปลี่ยน asset allocation) ในเวลาที่ไม่เหมาะสม หัวหน้าหน่วยฯ ค่อยๆ หาพนักงานมาเพิ่มตามความจำเป็น ซึ่งฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยพบว่า พนักงานแต่ละคนมีคุณสมบัติหลักเป็นที่น่าพอใจ คือเป็นคนดี มีฝีมือ และตั้งใจทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย “งานขยายออกไป ไปดูเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ ช่วยจัดการอีกหลายอย่างให้มหาวิทยาลัย คือช่วยเขาไปหมด” คุณหมออธิบายงานของหน่วยฯถึงตอนนี้มหาวิทยาลัยจึงได้เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้เป็นศูนย์บริหารสินทรัพย์ โดยที่หัวหน้าศูนย์ยังคงรายงานตรงต่อรองอธิการบดีเช่นเดิม

สถานะของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่ไม่ถูกกำกับเวลาทำงานคงจะมีคนเพ่งเล็งมากพอประมาณ แต่รองอธิการบดีซึ่งรับเข้ามาทำงานเชื่อว่า ให้ผลงานแสดงจะดีกว่า และผู้อำนวยการก็รับงานมากขึ้นๆ ในการช่วยส่วนงานและคณะต่างๆ เพราะได้รับความไว้วางใจลดขั้นตอนของราชการผ่านคัสโตเดียน ผู้บริหารเงินและบริหารสถาบันการเงินตัดสินใจรับการทาบทามให้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะเห็นว่าเงินที่่จะบริหารจำนวนประมาณ ๒ หมื่นล้าน ไม่มากเมื่อเทียบกับที่เคยทำมาแล้ว และตนยังจะได้ฝากผลงานไว้ในการสร้างแนวทางการบริหารเงินแบบใหม่ให้กับการอุดมศึกษาของไทย เมื่อเข้ามาทำงานวันแรกๆ ก็พบว่า

  • เงินของมหาวิทยาลัยไม่ได้มีทั้งจำนวนอย่างที่เห็นเป็นตัวเลขรวม เงินกระจายอยู่ตามคณะและส่วนงานต่างๆ จำนวนที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงคือเงินของสำนักอธิการบดี ซึ่งเป็นประมาณ ๑๐% ของเงินทั้งหมดเท่านั้น บวกกับเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งบางก้อนมาตอนต้นปีงบประมาณ​บางก้อนทะยอยมาเป็นงวดๆ ทุก ๓ เดือน

  • กระบวนการทำงานเบื้องหลังการลงทุนใช้เวลานาน และการตัดสินใจกระจัดกระจาย กองคลังเป็นศูนย์รวมทำเช็คจ่าย ที่ต้องเสนอรองอธิการบดีฯ ลงนามทุกฉบับ การตัดสินใจลงทุนในส่วนของคณะจึงต้องทำแต่เนิ่นๆ เพราะต้องผ่านกรรมการของคณะ หรือโครงสร้างอื่นใดของแต่ละคณะก่อนจะแจ้งมายังกองคลังเพื่อออกเช็ค เวลาที่ต้องใช้อาจจะถึง ๗ วัน

  • การดูแลความถูกต้องของตราสารการเงิน และการเก็บรักษาหลักทรัพย์ เป็นหน้าที่ของกองคลังของสำนักอธิการบดี กองคลังทำรายงานบัญชีทรัพย์สินนานๆ ครั้ง ดังนั้นคณะซึ่งเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต้องทำบัญชีไว้ต่างหาก การจะหา profile ของสินทรัพย์ทั้งสิ้นของมหาวิทยาลัย หรือแยกแต่ละส่วนงานใช้เวลานานจนไม่ทันสำหรับการตัดสินใจลงทุน

โจทย์เฉพาะหน้าคือ

  • จะทำให้งานของกองคลังเร็วทันเวลาตามมาตรฐานการทำงานของวงการเงินได้อย่างไร

  • จะทำอย่างไรให้คณะบริหารเงินให้ได้ประโยชน์สูงขึ้น เพราะเป็นประโยชน์รวมของมหาวิทยาลัย หรือถ้าคณะไม่ถนัด จะทำอย่างไรให้คณะส่งเงินให้ศูนย์ฯ เป็นผู้บริหาร

ในเรื่องแรก การตั้งคัสโตเดียน (ผู้เก็บรักษาหลักทรัพย์) เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะโดยผ่านคัสโตเดียน

  • กองคลังไม่ต้องออกเช็คอีกต่อไป

  • กองคลังทุกคณะไม่ต้องติดต่อกองคลังมหาวิทยาลัย ผู้มีอำนาจของคณะอาจสั่งเงินในความรับผิดชอบไปลงทุนได้โดยตรง

  • เงินออกในวันที่สั่งการ

  • กองคลังมหาวิทยาลัยไม่ต้องรับหน้าที่ตรวจสอบ เก็บรักษาและรายงานทรัพย์สินที่ลงทุนอีกต่อไป

เมื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกนี้ ก็เริ่มกระบวนการการมีส่วนร่วมของส่วนงาน คือเชิญแต่ละคณะมาร่วมรับฟังการนำเสนอบริการของผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน เพื่อความมั่นใจและเข้าใจในงานระบบใหม่อย่างทั่วถึง เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้ว ก็โอนงานและทรัพย์สินทั้งหมดแยกรายส่วนงานให้กับคัสโตเดียน จากวันนั้นเป็นต้นมา งานของกองคลังทั่วทั้งมหาวิทยาลัยลดลง การเซ็นเช็คไม่มีอีกต่อไป ความปลอดภัยของสินทรัพย์ที่เก็บรักษาไม่เป็นภาระของกองคลัง การตัดสินใจลงทุนทำได้ทันเวลาขึ้น และตัวเลขสินทรัพย์มีรายงานให้วันต่อวัน สร้างความน่าเชื่อถือเรื่องการบริหารเงินของคณะต่างๆ มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มแรกมีการกำหนดวงเงินรวมของแต่ละธนาคารพาณิชย์ (ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติที่คุ้มครองเงินฝากของแต่ละนิติบุคคลเพียงในวงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น) วงเงินและหุ้นกู้ที่จะลงทุนได้ กำหนดกองทุนรวมต่างๆ ที่ลงทุนได้ ซึ่งพิจารณาตามระดับความเสี่ยงหลังจากผ่านการวิเคราะห์ของศูนย์บริหารสินทรัพย์ฯ และคณะกรรมการจัดหาผลประโยชน์ฯ ข้อกำหนดนี้ทำให้แต่ละคณะต้องติดต่อศูนย์ฯ เพื่อเช็ควงเงินรวมคงเหลือในแต่ละธนาคาร หรือตราสารอื่นๆ ที่ส่วนงานจะลงทุนได้ และในขณะเดียวกันคณะที่ต้องการลงทุนในตราสารอื่นนอกเหนือจากเงินฝาก ก็สบายใจขึ้น เพราะมีผู้วิเคราะห์ความเสี่ยงและคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงให้

ทางศูนย์ฯ มีบริการเสริมคือ สอบถามอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากรายใหญ่รอไว้ให้แต่ละคณะได้สอบถามมา และให้คำแนะนำว่าควรฝากเงินระยะสั้นหรือระยะยาว ฯลฯ ถือเป็นงานที่ปรึกษาการลงทุน ซึ่งทุ่นเวลาการติดต่อของเจ้าหน้าที่แต่ละคณะ และผู้บริหารแต่ละคณะสบายใจขึ้นว่าได้ฟังความเห็นเพิ่มก่อนตัดสินใจ คณะต่างๆ รับรู้ผลตอบแทนการลงทุน ฯลฯ โดยตรงผ่านคัสโตเดียนอยู่แล้ว ส่วนสภามหาวิทยาลัยได้รับรายงานเป็นระยะๆ ตามกำหนด ขั้นตอนต่อมา เมื่อพบว่ายังมีบางคณะนำเงินไปฝากในธนาคารพาณิชย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าตัวเลขที่ทางศูนย์ฯ หามาได้ คณะกรรมการฯ ไม่ได้ห้ามทำ แต่ให้แนวทางว่า ควรให้คณะชี้แจงเหตุผลที่ทำเช่นนั้นมาประกอบด้วย และเปิดทางเลือกในการลงทุนให้คณะต่างๆ อีกหลายทางตามความสนใจและความต้องการของคณะ โดยมีศูนย์ฯ เป็นผู้ลงทุน หรือผู้วิเคราะห์ติดตามและประเมินผลการทำงานให้ กล่าวคือ

เปิดกองตราสารตลาดเงิน ที่ฝากถอนแบบทันที หรือมีกำหนดระยะเวลา ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยต่างๆ กัน คล้ายเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้แต่ละส่วนงานที่คุ้นกับเงินฝากธนาคารตัดสินใจส่งเงินให้ศูนย์ฯ บริหารง่ายขึ้น คัดเลือกผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยให้บลจ. ต่างๆ มานำเสนอ และให้คณะต่างๆ ได้ร่วมฟัง เพื่อตั้งกองทุนภายนอก ๒ กองที่นโยบายการลงทุนต่างกัน เป็นการเปิดทางเลือกให้กับคณะต่างๆ ที่อาจจะอยากให้ผู้อื่นบริหารเงินแทน แต่มิให้ถูกบังคับให้ต้องส่งเงินให้ศูนย์ฯ บริหาร วิธีการนี้ยังสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้ผู้บริหารกองทุนภายในมหาวิทยาลัยด้วย การตั้งกองทุนภายนอกสำเร็จได้โดยคณะที่มีเงินมากได้ช่วยใส่เงินตั้งต้นให้ก่อนตั้งแต่วันแรก เพื่อให้กองทุนเริ่มดำเนินการได้ คณะอื่นๆ จะซื้อกองทุนในภายหลังก็ทำได้ ศูนย์ฯ ออก “กองทุน” ภายในอีก ๓ กอง ด้วยสำรับการลงทุนที่ต่างกัน เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มให้กับส่วนงานต่างๆ

ก้าวเข้าปีที่ ๕ แม้เมื่อเปลี่ยนทีมบริหารมหาวิทยาลัยตามวาระหลังจากที่ตั้งศูนย์ฯ ได้ ๓ ปีเศษ มีรองอธิการบดีคนใหม่มารับงาน และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสินทรัพย์ย้ายไปรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีในสายงานการเงินการคลัง งานของศูนย์ฯ ก็ยังดำเนินต่อไป หลายโครงการเป็นโครงการระยะยาวเป็นงานต่อเนื่อง และผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนเดิม ได้เตรียมตัวบุคคลรับทอดงานไว้ให้มหาวิทยาลัยได้เลือกแล้ว งานที่ทำตลอดช่วงกว่า ๔ ปีที่ผ่านไป นับแต่กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยทีมงานภายใต้รองอธิการบดี/ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายการเงินการคลัง ครอบคลุมงานหลากหลายเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์นานาประเภทของมหาวิทยาลัย ดังนี้

สินทรัพย์ทางการเงิน : ลงทุนในตราสารต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และเริ่มลงทุนในต่างประเทศ

สินทรัพย์ทางปัญญา + สินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นการร่วมทุน :

(ก) กิจการที่มหาวิทยาลัยลงทุนหรือร่วมทุนไว้ก่อนแล้ว  วิเคราะห์ ติดตาม ขยายขอบเขต ปรับปรุงแบบ turn around หรือว่าปิด แล้วแต่ความจำเป็นและเหมาะสม  เช่น ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และบริษัท International Bio Service

(ข) บริษัทร่วมทุนใหม่ของคณะ และส่วนงานอื่นๆ หรือวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยในรูปแบบบริษัทจำกัด ตามความจำเป็นและเหมาะสม วิเคราะห์ เสนอแนะ ร่วมเจรจา ร่วมวางโครงสร้าง และเป็นที่ปรึกษาช่วงเริ่มดำเนินการ ร่วมกับส่วนงานนั้นๆ และ/หรือที่ปรึกษาภายนอก เช่น กรณีบริษัท อาร์เอฟ เอส​และ บริษัท M Clea Bio Services

อสังหาริมทรัพย์:

(ก) ช่วยเจรจาเรื่องให้เช่าพื้นที่ และร่วมคิดเพื่อพัฒนาโครงการให้ได้ประโยชน์ดีที่สุด กรณีที่คณะหรือส่วนงานขอมา โดยการตัดสินใจอยู่ที่คณะ เช่น พื้นที่สุดถนนติดแม่น้ำภายในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช พื้นที่ร้านค้าในอาคารที่สร้างใหม่ เป็นต้น

(ข) รับมอบงานบริหารอาคาร งานพัฒนาพื้นที่ หรือจัดการเรื่องให้เช่าพื้นที่ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย เช่น การบริหารอาคารพักอาศัย

อื่นๆ:

(ก) บริหารจัดการกิจการตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย เช่น ร้านฮาร์โมนี ซึ่งขยายจากร้านเล็กๆ ขายของที่ระลึก เป็นศูนย์หนังสือเต็มรูปแบบ

(ข) มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการใหม่ของคณะ ส่วนงาน และมหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ชำนาญการด้านการเงินและการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ เช่น การจัดตั้งโรงเรียนสาธิตนานาชาติมหิดล ซึ่งศูนย์ฯ วิเคราะห์ความเป็นไปได้เบื้องต้น เสนอแนะโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และช่วยนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อสภามหาวิทยาลัย โดยมีผู้มีความรู้เฉพาะทางในด้านอื่นๆ มาประกอบเป็นทีมงาน  เช่น ด้านการบริหารการศึกษา การเงิน การตลาด และการร่วมมือด้านวิชาการจากหลายส่วนงานในมหาวิทยาลัย ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จด้วยดี

งานที่หลากหลายขึ้น และเวลากว่า ๔ ปีที่ผ่านไป ทำให้เกิดคำถามว่า

  • ศูนย์ฯ ควรทำงานอื่นใดอีก

  • มหาวิทยาลัยควรจัดองค์กรภายในใหม่อย่างไร เพื่อรองรับบริการที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งต้องการความชำนาญหลากหลายด้าน และแก้ปัญหางานกระจุกตัวจนบริการล่าช้าลงในอนาคต ในระหว่างที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์มากเท่ากับคนเดิม ณ วันที่ครบวาระกำลังปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ และงานที่กว้างมากขึ้น

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงของศูนย์บริหารสินทรัพย์คืออะไรบ้าง

อดีตรองอธิการบดีผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา มองว่า ความสำเร็จของศูนย์ฯ อยู่ที่คน อันประกอบด้วยรองอธิการบดีกับผู้อำนวยการศูนย์และทีมงาน โดยที่รองอธิการเป็นผู้ให้ความเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์และเข้าใจนโยบายและวิธีปฏิบัติในมหาวิทยาลัย ส่วนพนักงานอื่นทั้งหมดเสนองานตามหลักทฤษฎีและความคิดของตน งานที่สำเร็จจึงเป็นผลงานการตัดสินใจร่วมกันของสองฝ่าย พนักงานทั้งหมดทำงานเพราะมีงานที่น่าสนใจให้ทำ หากว่าถึงระดับหนึ่งที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ พนักงานก็อาจจะไม่สนใจทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

เงื่อนไขความสำเร็จของศูนย์ฯ ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยใด อยู่ที่ คน ๒ ฝ่าย ที่กล่าวมาแล้ว คือ

  • ฝ่ายบริหารเห็นประโยชน์และตั้งใจให้ส่วนงานนี้เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ และดูแลให้เกิดและเดินได้จริงจังเพียงใด

  • ผู้ที่เข้ามาเริ่มต้นตั้งศูนย์ฯ ทุ่มเทให้จริงหรือไม่ หาคนที่อยากทำงานให้มหาวิทยาลัยเพราะเห็นว่าทำให้มหาวิทยาลัยเท่ากับช่วยกันทำให้สมองของชาติและช่วยประเทศได้มาก เจอหรือไม่

เมื่อตั้งต้นดี ได้ความไว้วางใจทั้งจากสภา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดีและหัวหน้าส่วนงาน เงินที่จะให้บริหาร และความต้องการใช้บริการที่ปรึกษา ก็จะตามมา หากว่าเลือกคนได้ไม่ดีพอ ผู้อื่นไม่เชื่อคนที่บริหาร ก็จะไม่เชื่อศูนย์ฯ เรื่องท้าทายผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกสมัยก็คือ จะหาคนได้หรือไม่ และเมื่อหาได้แล้วจะคงเขาไว้ในระบบงานของมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และได้นานเพียงใด

ข้อคิดคำถามท้ายเรื่อง

  • ควรมีการบริหารเงินและทรัพย์สินอื่นๆ เองในมหาวิทยาลัยหรือไม่

  • บรรยากาศและเงื่อนไขใดที่ทำให้เรื่องการตั้งศูนย์บริหารสินทรัพย์ในมหาวิทยาลัยนี้ประสบความสำเร็จ

  • “professional” มีความหมายใด และจะหา “มืออาชีพทางการเงินเพื่อทำงานให้มหาวิทยาลัยได้อย่างไร

  • ยุทธวิธีใดบ้างที่ช่วยให้งานของศูนย์บริหารสินทรัพย์ขยายตัว สิ่งเหล่านี้สามารถทำซ้ำได้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือไม่

นวพร เรืองสกุล

มีนาคม ๒๕๕๖

พ.ศ. ๒๕๕๒ มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในของสำนักงานอธิการบดี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อให้การบริหารงานของสำนักงานอธิการบดี สามารถตอบสนองวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนทำหน้าที่บริหารจัดการทั่วไปของมหาวิทยาลัย งานบริหาร งานบริการและสนับสนุน การดำเนินงานของทุกส่วนงาน โดยสำนักงานอธิการบดี มีหน่วยงานทั้งสิ้น ๑๘ หน่วยงาน อันประกอบไปด้วย ๑๒ กอง ๕ ศูนย์ ๑โครงการจัดตั้ง

(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒)

พ.ศ. ๒๕๕๒ มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การโอนอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อให้การบริหารงานของหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอธิการบดีมีความคล่องตัวและต่อเนื่องจึงขอเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ดังนี้

๑. กองกลาง มาเป็น กองบริหารงานทั่วไป

๒.กองการเจ้าหน้าที่ มาเป็น กองบริหารทรัพยากรบุคคล

๓.กองบริการการศึกษาและกองทะเบียนและประมวลผล มาเป็น กองบริหารการศึกษา

๔. สำนักพัฒนาคุณภาพ มาเป็น กองพัฒนาคุณภาพ

๕. งานตรวจสอบภายใน มาเป็น ศูนย์บริหารจัดการความเสี่ยง

๖. หน่วยจัดหาประโยชน์จากเงินรายได้ มาเป็น ศูนย์บริหารสินทรัพย์

๗. สำนักคอมพิวเตอร์ มาเป็น กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ

๘. ศูนย์ศาลายา มาเป็น กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม

(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๑)

พ.ศ. ๒๕๕๒ มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในของสำนักงานอธิการบดี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี และจัดตั้งหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดี ดังนี้

๑.  กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น กองเทคโนโลยีสารสนเทศ

๒. กองบริหารทรัพยากรบุคคล เปลี่ยนชื่อเป็น กองทรัพยากรบุคคล

๓. จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ

(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒)