การดูแลสุขภาพทางไกล สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง : การพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลของระบบ เพื่อการเพิ่มผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การดูแลสุขภาพทางไกล สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง : การพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลของระบบ เพื่อการเพิ่มผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานวิจัย :
การดูแลสุขภาพทางไกล สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง : การพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลของระบบ เพื่อการเพิ่มผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
ผู้วิจัย :
รศ.ดร.อรวมน ศรียุกตศุทธ, ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์, พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน และ อ.นาตยา รัตนอัมภา
จากนโยบาย “PD First” ที่จัดให้การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยไตวายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดยภาครัฐรับดูแลผู้ป่วยไตวาย ที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เข้าอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้ป่วยสามารถรักษาวิธีนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากนโยบายดังกล่าว ยังผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การให้บริการ และคุณภาพของการรักษา แม้ว่าการล้างไตทางช่องท้อ งถือเป็นวิธีการรักษาที่ช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายให้เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ประเด็นท้าทายของประเทศไทย คือ การออกแบบระบบบริการอย่างไร ให้ผู้ป่วยที่ต้องจัดการการรักษาด้วยตนเองที่บ้านมีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพในผู้ป่วยกลุ่มนี้
จากความจำเป็นในการออกแบบระบบบริการให้มีคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบัน และเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ป่วย ซึ่งมีใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการพยาบาล โดยนวัตกรรมที่เรียกว่า “การดูแลสุขภาพทางไกลสำหรับการล้างไตทางช่องท้อง” หรือ “PD Telehealth” ที่ต้องการพัฒนาขึ้นนี้ เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ จากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้เป็นระบบในการเฝ้าระวังติดตามความผิดปกติ และรายงานผลต่อทีมสุขภาพ และผู้ป่วยผ่านระบบการเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างทีมสุขภาพและผู้ป่วย และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้ความรู้และทักษะการจัดการตนเองให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเฝ้าระวังติดตาม และให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การบริการสุขภาพผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีคุณภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อโครงการวิจัยสิ้นสุด ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ช่วยยกระดับระบบบริการสุขภาพแก่ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง เพิ่มคุณภาพการบริการ ลดค่าใช้จ่าย และเป็นต้นแบบในการนำไปใช้ขยายผลในศูนย์ล้างไตทางช่องท้องอื่นต่อไป
การนำไปใช้ประโยชน์ : ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัย เมื่อโครงการวิจัยสิ้นสุด ผู้วิจัยวางแผนจัดเวทีการประชุม เพื่อนำเสนอผลการวิจัยสู่สาธารณชน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาต่อไป
โครงการนี้ได้รับจัดสรรทุนจาก : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
การติดต่อ :
รศ.ดร.อรวมน ศรียุกตศุทธ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
aurawamon.sri@mahidol.ac.th