ความผันแปรของลมมรสุมฤดูร้อนในทวีปเอเชียสมัยโฮโลซีน การศึกษาเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกในหินงอกและวงปีไม้จากประเทศไทยและจีน
December 26, 2019
การตรวจเอชไอวีด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
May 17, 2021

Multi – level Empowerment Intervention

หน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม University of California San Francisco และ University of Malaya

โครงการวิจัย:

ส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการอย่างต่อเนื่องของกลุ่มเยาวชนชายในประเทศไทย

ผลงานวิจัย:

Multi – level Empowerment Intervention

ผู้วิจัย:

รศ. ดร.โธมัส กวาดามูซ
ศ. ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล
Prof. Emeritus Dr.Susan M. Kegeles
Asst. Prof. Dr.Sin How Lim

โครงการวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ ในลักษณะติดตาม ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงและการเข้าถึงระบบริการสุขภาพของเยาวชนชายรักชาย และเพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันเอชไอวีที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตของเยาวชน
2) เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV testing) และการตรวจอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเยาวชนชายรักชาย และเพิ่มการเข้าถึงบริการรับยาต้าน และเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มเยาวชนที่มีผลเลือดบวก โดยมีทั้งจังหวัดที่จัดกิจกรรม (Intervention) และจังหวัดควบคุม (Control) และ
3) เพื่อเปรียบเทียบ ความรู้ การป้องกัน การตรวจเลือดและการเข้าถึงการรักษา HIV ของกลุ่มชายรักชายใน พื้นที่วิจัย 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุม และพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่

ทางทีมวิจัย ได้สร้างความร่วมมือกับชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์กรภาครัฐ ในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในการร่วมกันสร้างกิจกรรมที่จะเสริมพลังให้กับเยาวชนชายรักชายในพื้นที่ ให้สามารถมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการพูดคุย และแชร์เรื่องราวระหว่างกัน ทั้งในเรื่องสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ สามารถมีที่ปรึกษา และยังจะเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยถึงอุปสรรค ปัญหา ในหลาย ๆ ระดับ ทั้งในระดับปัจเจก ระดับชุมชน และโครงสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนสังคมในทุกระดับด้วย ซึ่งจะทำให้เยาวชนชายรักชาย ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข กล้าไปตรวจสุขภาพ รู้สึกรักตัวเอง และสามารถเป็นกระบอกเสียงในการส่งต่อความรู้ ความตระหนัก รวมถึงทักษะต่าง ๆ ในการดูแลด้านสุขภาพทางเพศของตนเอง

ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ยังมีการแต่งตั้ง Core Group ซึ่งจะเป็นกลุ่มเยาวชชายรักชาย ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมารวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ สามารถนำประเด็นที่กำลังอยู่ในเทรนด์มาพูดคุยกัน โดยผู้คิด ผู้จัดกิจกรรม และผู้ร่วมกิจกรรม จะเป็นเยาวชนชายรักชายที่อยู่ในชุมชน ที่อาสาลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง และชุมชนตัวเอง เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ผ่านการจัดกิจกรรมทั้งแบบออนไลน์ ออฟไลน์ อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ โดยจะเป็นการสร้าง Diffusion of Innovations ซึ่งเป็นเสมือนการกระจายแบบแผน แนวคิดในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน HIV การมองตนเองในเชิงบวก ซึ่งจะค่อย ๆ แพร่กระจายแบบแผนการดูแลสุขภาพ การรักตนเอง มุมมองต่อตนเองและชุมชนในเชิงบวกไปสู่วงกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบ การตีตราหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ไป โดยการกระจายแนวคิดดังกล่าว จะเป็นไปแบบปากต่อปาก ผ่านการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านพฤติกรรมที่มีร่วมกันของชุมชน นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนของระบบบริการสุขภาพ ยังได้ความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการร่วมกันจัดอบรมเจ้าหน้าที่ในระบบบริการสุขภาพ ให้มีความละเอียดอ่อนในการให้บริการในหัวข้อ Positive Prevention (ARTAS) และ Sexual Diversity ซึ่งจะเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้มีความละเอียดอ่อน และพร้อมที่จะให้บริการเยาวชนชายรักชายด้วยความเข้าใจ ไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยเมื่อโครงการวิจัยแล้วเสร็จ จะมีการนำเสนอผลการวิจัยในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำ Intervention ที่มีความเหมาะสม และประสบความสำเร็จในการ Empowerment ดังกล่าว ไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายต่อไป

การติดต่อ:
นางสาววรวลัญช์ วรัชวรวัลย์
08 2783 3769
kanchawee.k@gmail.com