การเปรียบเทียบพารามิเตอร์ของการกระโดดสูง ระหว่างระบบโครโนจัมพ์และแผ่นวัดแรง
October 24, 2019
ผลของโปรแกรมการฝึกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ในการวัดอัตราความสมดุลของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าเทียบกับต้นขาด้านหลัง การทรงตัว ในนักกีฬาบาสเกตบอลชาย ระดับมัธยมปลาย
October 24, 2019

การศึกษาการแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาที ขณะพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอล ที่มีต่อความสามารถในการพักฟื้นร่างกายของนักฟุตบอล ในสภาพอากาศร้อน

การศึกษาการแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาที ขณะพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอล ที่มีต่อความสามารถในการพักฟื้นร่างกายของนักฟุตบอล ในสภาพอากาศร้อน

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

การศึกษาการแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาที ขณะพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอล ที่มีต่อความสามารถในการพักฟื้นร่างกายของนักฟุตบอล ในสภาพอากาศร้อน

ผู้วิจัย :

อารมย์ ตรีราช
ประณมพร โภชนสมบูรณ์

การแข่งขันฟุตบอลในสภาวะอากาศร้อนนั้น จะนำไปสู่การลดลงของขีดความสามารถของนักกีฬา ดังนั้นผู้ฝึกสอนจึงต้องมีกลยุทธ์วิธีการในการลดความร้อนหรืออุณหภูมิภายในร่างกายลงขณะพักครึ่งของการแข่งขันประมาณ 15 นาที ที่ประหยัดเวลาและสามารถสอนเกมนักกีฬาไปพร้อมๆกันได้

วัตถุประสงค์ : การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาที ขณะพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอล ที่มีต่อความสามารถในการพักฟื้นร่างกายของนักฟุตบอลในสภาพอากาศร้อน

วิธีดำเนินการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักกีฬาฟุตบอลชายทีม มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 18 – 22 ปี จำนวน 11 คน ที่สมัครใจเข้าร่วม ทำการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง ดัชนีมวลกาย วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณความเข้มข้นของแลคเตทในเลือด แบบสอบถามความรู้สึกเหนื่อย (RPE) และทำการวัดความชื้นและอุณหภูมิสนาม หลังจากนั้นก็ลงทำการแข่งขันฟุตบอลตามสถานการณ์จริง จนครบ 45 นาที แล้วพักครึ่ง 15 นาที ทำการชั่งน้ำหนัก วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณความเข้มข้นของแลคเตทในเลือด แบบสอบถามความรู้สึกเหนื่อย และทำการวัดความชื้นและอุณหภูมิสนาม หลังจากนั้นทำการแช่ขาในน้ำเย็นระดับเข่าที่อุณหภูมิ 10 – 14 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที แล้ววัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณความเข้มข้นของแลกเตทในเลือด แบบสอบถามความรู้สึกเหนื่อ ยและวัดความชื้นและอุณหภูมิสนามอีกครั้ง ก่อนลงทำการแข่งขันในครึ่งเวลาหลัง เมื่อการแข่งขันครบ 90 นาที ก็ทำการชั่งน้ำหนัก และวัดตามเดิมอีกครั้ง จึงนับว่าเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัย

ผลการวิจัย : พบว่าค่าปริมาณความเข้มข้นแลคเตทในเลือด ระดับความรู้สึกเหนื่อย และอัตราการเต้นของหัวใจหลังแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาที มีความแตกต่างกันกับขณะพักครึ่งเวลาก่อนแช่ขาในน้ำเย็น และหลังการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวหลังแช่ขาระดับเข่าในน้ำเย็น 5 นาทีไม่มีความแตกต่างกับขณะพักครึ่งเวลาก่อนแช่ขาในน้ำเย็น และหลังการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

สรุปผลการวิจัย : จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่าการแช่น้ำเย็นระดับเข่าเป็นเวลา 5 นาที ที่อุณหภูมิ 10 – 14 องศาเซลเซียสนั้น มีผลต่อการพักฟื้นสภาพร่างกาย (Recovery) ของนักกีฬากีฬาฟุตบอลขณะร่วมแข่งขันได้เป็นอย่างดี และความรู้สึกเหนื่อยของนักฟุตบอลทุกคนขณะนั่งแช่ขาในถังน้ำเย็นก็หายเหนื่อยได้เร็วขึ้น ทุกคนรู้สึกสบายไม่มีความวิตกกังวลท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว อุณหภูมิขณะแข่งขันประมาณ 34 – 36 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 48 – 60 เปอร์เซ็นต์ และลงสนามไปทำการแข่งขันในครึ่งเวลาหลังด้วยความมั่นใจ ไม่มีอาการของความเมื่อยล้าจนครบ 90 นาที ดังนั้น จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงสามารถที่จะนำรูปแบบการแช่น้ำเย็นระดับเข่า 5 นาทีนี้ มาประยุกต์ใช้ได้จริงในการแข่งขันฟุตบอลรายการต่าง ๆ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งใช้เวลาในการปฏิบัติที่สั้น ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งผู้ฝึกสอนก็สามารถสอนเกมหรือแก้เกมฟุตบอลได้ ในขณะที่ทำการแช่น้ำเย็นไปพร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกัน

การเผยแพร่ผลงาน : วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา 2561; 18 (1) : 37 – 48

การติดต่อ :
ผศ.ดร.อารมย์ ตรีราช
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
treeraj@hotmail.com