เพาะพันธุ์ปัญญา : นวัตกรรมการศึกษาที่ใช้ในการทำโครงงานฐานวิจัย (Research – Based Project)
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพาะพันธุ์ปัญญา : นวัตกรรมการศึกษาที่ใช้ในการทำโครงงานฐานวิจัย (Research – Based Project)
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานวิจัย :
นวัตกรรมการศึกษาที่ใช้ในการทำโครงงานฐานวิจัย (Research – Based Project)
ผู้วิจัย :
ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม
ผศ.ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย
ผศ.ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์
ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อหาคำตอบในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้าง “กระบวนการคิดอย่างมีระบบ” โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความรู้ให้กับตนเองอย่างไม่รู้จบ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 โรงเรียน ในการยกระดับการทำโครงงาน (Project) ให้นำไปสู่การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์สร้างความรู้โดยผู้เรียนเอง โดยผู้วิจัยทำหน้าโค้ชครูที่จะเป็นผู้โค้ชนักเรียนออกแบบโครงงานฐานวิจัย (Research Based Project) ด้วยเครื่องมือ 4 ชุด ได้แก่ 1) เครื่องมือ พัฒนาฐานใจ คือ กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา ให้ครูเข้าใจตนเองและจิตวิญญาณความเป็นครู เปลี่ยนบรรยากาศห้องเรียนจากระบบใช้อำนาจมาเป็นระบบความสัมพันธ์แนวราบกับนักเรียน ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย หลุดจากความกลัว กล้าที่จะคิด พร้อมก้าวเดินและเรียนรู้ไปด้วยกัน 2) เครื่องมือพัฒนากระบวนการคิดเชิงเหตุผล (cause-effect) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโครงการนี้ ให้ครูสามารถใช้ออกแบบความคิดแบบ backward thinking ในการวิเคราะห์คำตอบของนักเรียน เพื่อประดิษฐ์คำถามใหม่ให้กับนักเรียน เป็นการใช้คำถามแทนการบอกความรู้ ถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้าสู่เป้าหมายการเรียนรู้ที่สูงขึ้น จนร้อง “อ๋อ” ด้วยตนเอง 3) เครื่องมือการทำโครงงานฐานวิจัย คือการทำโครงงานของนักเรียนด้วยกระบวนการวิจัยภายใต้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทรอบโรงเรียน และ 4) เครื่องมือที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community, PLC) ผ่านระบบ social media ที่ต้องมี feedback อย่างรวดเร็ว การเขียน reflection และทำ After Action Review (AAR) โดยมีพี่เลี้ยงพาทำ และกระตุ้นให้คิดเพื่อประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความเห็นที่ต่างกันอย่างสร้างสรรค์ และให้เกิดการคิดเชิงบวก ที่จะต้องมีข้อสรุปให้เกิดการทำงานต่อไปด้วยตนเองในบริบทของตน
การนำไปใช้ประโยชน์ :
1.) ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีระบบคิดในวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ (คิดแบบผลเกิดจากเหตุ) มีทักษะการเรียนรู้และรู้จักสร้างปัญญาเองแบบไม่รู้จบ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพต่อไป
2.) การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย มีความเป็นรูปธรรมในการทำให้นักเรียนเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
3.) โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 3 โรงเรียน มีการขยายผลทั้งโรงเรียนภายใต้การให้คำปรึกษาของศูนย์พี่เลี้ยง
รางวัลที่ได้รับ :
ผลงานวิจัยดีเด่นด้านสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2557 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (21 พฤษภาคม 2558)
การเผยแพร่ผลงาน :
• ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม (2558). “เพาะพันธุ์ปัญญา…เรียนรู้และเติบโตอย่างช้าๆ กว่าต้นกล้าจะผลิใบ” ใน สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และคณะ (บรรณาธิการ) “สะท้อนคิดคือเรียน: ความรู้สึกในความงามที่ผลิบาน โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปี 2”. สงขลา: บริษัทนำสินโฆษณาจำกัด. หน้า 21-45.
• ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม (2557). “พี่เลี้ยง…การเรียนรู้จากประสบการณ์นอกตำรา” ใน สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และคณะ (บรรณาธิการ) “รอยจารึก บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา”. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. หน้า 407-416.
• ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล (2559). “ก้าวข้ามสู่ความเปลี่ยนแปลง ของครูเพาะพันธุ์ปัญญา” 65 หน้า.
การติดต่อ :
ผศ.ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
pjittam@gmail.com