การพัฒนาชุดอุปกรณ์ และรูปแบบการสอน การฝึกผ่าตัดส่องกล้องจำลอง
August 30, 2019
ความสำคัญของไซคลิน ดีวัน และซีดีเค โฟ ต่อมะเร็งท่อน้ำดี
September 2, 2019

การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร ภายใต้บริบทการสูงวัยทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย

การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร ภายใต้บริบทการสูงวัยทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการวิจัย:

การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากร ภายใต้บริบทการสูงวัยทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย

ผู้วิจัย:

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
นางสาวสุภรต์ จรัสสิทธิ์
นางสาวณัฐณิชา ลอยฟ้า

ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า การสะท้อนภาพให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต เกี่ยวกับแหล่งรายได้ และความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุ การโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นประชากร โดยเฉพาะจากครอบครัว ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนกลุ่มประชากรวัยพึ่งพิงของประเทศ ทั้งผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีระดับการบริโภค (Consumption) สูงกว่าระดับรายได้จากการทำงาน (Labour Income) มีความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการ และนโยบายรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางประชากรในยุคเกิดน้อย สูงวัยเพิ่มขึ้นของสังคมไทย โครงการวิจัย “การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นประชากร ฯ” ประยุกต์แนวคิดการจัดทำบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account: NTA) มาใช้ในการศึกษา และวิเคราะห์แบบแผนรายอายุ (Age Profile) ของการขาดดุลรายได้ตามช่วงชีวิต (Lifecycle Deficit) และการจัดสรรระหว่างช่วงชีวิต (Age Reallocation) ซึ่งประกอบด้วยการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset – based Reallocation) และการโอนทางเศรษฐกิจ (Transfers) จากภาคเอกชน และภาครัฐ ของประชากรไทย เพื่อฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบัน (ปี 2560) และคาดการณ์แนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ผลการศึกษา และประเด็นพิจารณาเชิงนโยบายที่สำคัญจากการศึกษา เรื่องแรก เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการเกิด และสนับสนุนการเลี้ยงดูประชากรวัยเด็ก พบว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กอายุ 0 – 14 ปี 1 คนในประเทศไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.55 ล้านบาท (ไม่รวมผลของอัตราเงินเฟ้อ) ในจำนวนนี้ ประมาณ 3 ใน 5 เป็นส่วนที่รับผิดชอบโดยครัวเรือน (พ่อแม่) ซึ่งพบความเหลื่อมล้ำของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และสุขภาพของเด็กในระดับที่สูง ระหว่างครัวเรือนที่ยากจน และครัวเรือนที่มีฐานะดี อีก 2 ใน 5 เป็นส่วนที่อุดหนุนจากภาครัฐ เรื่องที่ 2 นโยบายสร้างความตระหนัก และส่งเสริมการเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปี โดยเฉลี่ยคนไทยจะมีอายุยืนยาวได้อีกประมาณ 20 ปี จากการศึกษา พบว่าทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้ในการบริโภคโดยเฉลี่ยในช่วง 20 ปีนั้น มีมูลค่าประมาณ 2.54 ล้านบาท ตกประมาณปีละ 127,000 บาท (เดือนละ 10,600 บาท) ในจำนวนนี้ ประมาณ 50,000 บาท (เดือนละ 4,400 บาท) เป็นรายได้ที่มาจากทรัพย์สินและเงินออม หากสมมติว่าอัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สินและเงินออมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี จำนวนทรัพย์สินและเงินออมที่คนไทยควรมีก่อนอายุ 60 จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาท แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีครอบครัวหรือลูกหลานดูแลในวัยชรา การเตรียมตัวในส่วนนี้ต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ใน 4 เรื่องที่ 3 นโยบายการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจน ผลการศึกษา พบว่าผู้สูงอายุไทยประมาณร้อยละ 7 (เกือบ 7.5 แสนคน จากผู้สูงอายุทั้งหมด 11 ล้านคน) มีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน (Property Line) การจะยกผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้ขึ้นมาอยู่สูงกว่าระดับเส้นความยากจน ภาครัฐควรอุดหนุนเงินเพิ่มเติมประมาณ 433 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาเปลี่ยนนโยบายเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ โดยอาจเป็นได้ทั้งในลักษณะนโยบายแบบเจาะจงเฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน (Targeting Policy) หรือนโยบายแบบถ้วนหน้า (Universal Policy) เรื่องที่ 4 นโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพประชากร การวิเคราะห์สถานการณ์การโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นประชากร พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากร หากพิจารณาเฉพาะด้านด้านโครงสร้างอายุที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จะส่งผลลบ (-) ค่อนข้างมาก ต่อการขาดดุลรายได้รวมของประเทศ และภาระค่าใช้จ่ายทางการคลังของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม หากนำคุณลักษณะของผู้สูงอายุในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไป จากการมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น มีการแต่งงานช้าลงและจำนวนบุตรที่น้อยลง มาร่วมพิจารณาด้วย จะพบว่าผลการคาดการณ์ไม่ได้เลวร้ายเหมือนในกรณีแรก โดยปรากฏว่าการคลังภาครัฐอาจจะได้ผลเชิงบวกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากคุณลักษณะของผู้สูงอายุในอนาคตที่มีคุณภาพและทุนมนุษย์สูงขึ้น มีศักยภาพในการทำงานที่นานขึ้น ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นความสำคัญของนโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพประชากร และลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย

การนำไปใช้ประโยชน์:
•   ผลการศึกษานำไปประกอบใช้ในการพิจารณาปรับปรุงนโยบายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
•   ผลการศึกษาถูกนำไปเสนอในที่ประชุมความร่วมมือในการจัดตั้ง ASEAN Center for Active Ageing and Innovation (ACAI) เพื่อพิจารณาประเด็นและกำหนดทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศ ASEAN

การเผยแพร่ผลงาน:
•   บทความ “ต้นทุนต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร (อายุ 0 – 14 ปี) ในประเทศไทย” ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ “Chiangmai University Journal of Economics” ฉบับ 23 (1) หน้า 55 – 78
•   Pocket Book “การโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากรในสังคมสูงอายุไทย” เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่ายกับสาธารณะ
•   การจัดทำเป็นบทความสื่อสารสาธารณะ Infographic ใน Website ต่าง ๆ และการสัมภาษณ์รายการวิทยุ เช่น จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา The Prachakorn Website รวมถึง งานสื่อสารองค์กร ม.มหิดล

แหล่งทุนวิจัย:
•   ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัย จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

การติดต่อ:
ผศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล