การดูแลสุขภาพทางไกล สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง : การพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลของระบบ เพื่อการเพิ่มผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
September 25, 2018
In vitro synergistic antibacterial activity of the essential oil from Zingiber cassumunar Roxb against extensively drug-resistant Acinetobacter baumannii strains
January 22, 2019

การนำแนวทางการส่งเสริมโภชนาการ ไปใช้ในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกิน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

การนำแนวทางการส่งเสริมโภชนาการ ไปใช้ในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกิน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

การนำแนวทางการส่งเสริมโภชนาการ ไปใช้ในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกิน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ผู้วิจัย :

รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์, รศ.ดร.อาภาวรรณ หนูคง, ณัฐธิรา ไกรมงคล และ รุ่งรดี พุฒิเสถียร

ภาวะโภชนาการของเด็ก เป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง ภาวะโภชนาการเกินในเด็ก (Overweight) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารเกินความต้องการของร่างกาย จนมีการสะสมพลังงานไว้ในร่างกาย ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าปกติ โดยภาวะโภชนาการเกินนี้จะรวมถึงเริ่มอ้วน และอ้วน ประเมินจากเกณฑ์ คือ เด็กมีน้ำหนักเทียบกับส่วนสูงมากกว่า 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือมีร้อยละของน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์ส่วนสูงตั้งแต่ 120 ขึ้นไป ซึ่งการที่เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคทางเดินหายใจอุดกั้นจนหยุดหายใจ ความผิดปกติของระดับไขมันในหลอดเลือด และความดันเลือดสูงขึ้น เป็นต้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่วัยเด็ก และผลกระทบที่สำคัญของภาวะโภชนาการเกินในเด็ก คือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ซึ่งอาจส่งผลให้มีอายุสั้นลง 5 – 20 ปีได้

การที่เด็กก่อนวัยเรียน (3 – 5 ปี) มีภาวะโภชนาการเกินนั้น มีปัจจัยร่วมกันหลายประการ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านตัวเด็ก เช่น น้ำหนักแรกเกิด ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โรคทางกรรมพันธุ์บางอย่างที่ส่งผลให้มีน้ำหนักมาก ปัจจัยทางด้านครอบครัว เช่น ระยะเวลาการได้รับนมมารดาน้อย ประวัติอ้วนในครอบครัว พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายของคนในครอบครัว แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กวัยก่อนเรียนส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของวัน (8 – 10 ชั่วโมง) อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากผู้ปกครองต้องทำงานนอกบ้าน ดังนั้นการดูแลเด็กให้มีการเจริญเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการดี จึงเป็นบทบาทร่วมกันของผู้ปกครอง และครู/ผู้ดูแลเด็ก

ดังนั้น ผู้วิจัย และครู/ผู้ดูแล จึงสนใจที่จะพัฒนาแนวทางการส่งเสริมโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ครู/ผู้ดูแล แม่ครัว และพยาบาล ร่วมกับการนำแนวทางการส่งเสริมโภชนาการสำหรับเด็กไปใช้ โดยนำแนวคิดการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning Theory) ของ Kolb8 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กที่มีโภชนาการเกิน ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การแก้ปัญหาโดยการสะท้อนคิด และหาข้อสรุปร่วมกัน การพัฒนาแนวทางการจัดการที่ผู้ปฏิบัติมีส่วนร่วม และมีความเป็นไปได้สำหรับเด็กแต่ละคน และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยคาดว่าจะเกิดแนวทางการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กที่มีโภชนาการเกินมีพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายดีขึ้น และมี %W/H ลดลง ซึ่งจะทำให้เด็กก่อนวัยเรียนมีสุขภาพที่ดีต่อไป

การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นระยะพัฒนาแนวทางการส่งเสริมโภชนาการ โดยการสนทนากลุ่มของครู/ผู้ดูแลเด็ก และแม่ครัว รวม 10 คน ผู้ปกครอง 3 คน พยาบาล 1 คน และระยะที่ 2 คือ การนำแนวทางมาใช้ตามกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของ Kolb กับผู้ปกครองของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน 10 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา เปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกาย และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กด้วยสถิติ Wilcoxon Signed Ranks Test ผลของการวิจัยพบว่า สาเหตุของภาวะโภชนาการเกิน คือ ขาดความรู้เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็ก และการเลี้ยงดูแบบตามใจ การนำแนวทางไปใช้ พบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกาย และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างกัน

ข้อเสนอแนะของการวิจัย คือ การนำแนวทางการส่งเสริมโภชนาการ สำหรับเด็กที่มีโภชนาการเกิน ควรให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางของตนเอง และมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลเด็ก

การนำไปใช้ประโยชน์ : ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้ได้รับจัดสรรทุนจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

การเผยแพร่ผลงาน : วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2560

การติดต่อ :
รศ.ดร.อาภาวรรณ หนูคง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
apawan.noo@mahidol.ac.th