ประสิทธิผลของโมบายแอพพลิเคชั่น ต่อความร่วมมือในการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
October 24, 2019
การดูแลสุขภาพทางไกล สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง : การพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลของระบบ เพื่อการเพิ่มผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
October 24, 2019

โครงการอบรมระยะสั้น สำหรับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ

โครงการอบรมระยะสั้น สำหรับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัย :

โครงการอบรมระยะสั้น สำหรับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ

ผู้วิจัย :

รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล

ในปี 2564 ประชากรไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีมากถึงร้อยละ 20 เรียกว่าเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” และจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2574 เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มเป็น ร้อยละ 28 ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่า ผู้สูงอายุเป็นโรคเรื้อรัง (โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีภาวะอ้วน) ร้อยละ 18 – 53 และมีภาวะถดถอยของสมรรถนะทางร่างกาย (โรคต้อกระจก ระบบบดเคี้ยว การได้ยิน และสายตา) ร้อยละ 22.3 – 52 ในขณะที่ลักษณะการอยู่อาศัยของครอบครัวไทย ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรส หรืออยู่ตามลำพังคนเดียว มีจำนวนมากขึ้น ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) มีมากถึงร้อยละ 24 ที่ต้องการการดูแลปรนนิบัติ แต่มีผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแล แต่ไม่สามารถมีผู้ดูแลได้ เป็นสัดส่วนมากถึง ร้อยละ 4 ของผู้สูงอายุวัยปลายทั้งหมด จากสถานการณ์ และแนวโน้มของสัดส่วนผู้สูงอายุ และความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังทั้งทางกาย และจิตใจ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบการดูแลสุขภาพของประชากรผู้สูงอายุ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ด้านการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และสนับสนุนให้จัดหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์พัฒนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และคนพิการ ทั้งนี้ ให้จัดตั้ง และกำกับ หรือดำเนินการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ (ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2560)

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ ที่ผลิตบุคลากรการพยาบาล สำหรับผู้รับบริการทุกช่วงวัยมาเป็นเวลากว่า 120 ปี ตระหนักถึงการที่สังคมไทย และสังคมโลก ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ซึ่งหมายถึง ผู้สูงอายุที่ต้องการการช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ แต่งตัว ลุก – นั่ง การเคลื่อนที่ การใช้ห้องน้ำ ให้มีสุขภาพกายจิตสังคมที่ดี และได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน คณะพยาบาลศาสตร์จึงได้จัดโครงการอบรมระยะสั้น สำหรับผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ เพื่อผลิตบุคลากร ที่มีความรู้ ทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับหลักสูตรการอบรมนั้น จะครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายของโครงการ คือ ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเกิดศูนย์พัฒนาผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีมาตรฐาน ไว้สำหรับรองรับสังคมสูงวัย

การนำไปใช้ประโยชน์ : ขณะนี้ กระบวนการวิจัยอยู่ในขั้นตอนของการติดตาม และประเมินผลความรู้ และทักษะตามหลักสูตร ของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ที่เข้ารับการอบรม ว่ามีความสำเร็จตรงตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด

โครงการนี้ได้รับจัดสรรทุนจาก : เงินงบประมาณแผ่นดิน (งบกลางปี)

การติดต่อ :
รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
deanns@mahidol.ac.th