สัญญาและคดี

สัญญา ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง “นิติกรรมหลายฝ่ายซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป แต่ละฝ่ายอาจจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นฝ่ายเดียวกันก็ได้ โดยต่างได้ตกลงยินยอมกันก่อให้เกิดหนี้ขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆก็ได้” ด้วยเหตุนี้ สัญญาจึงต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อยสองฝ่าย ส่วนแต่ละฝ่ายจะมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาน้อยเท่าใดนั้น บทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้จำกัดไว้ และการเกิดสัญญาได้นั้น จะต้องมีการแสดงเจตนาอันเป็นคำเสนอ และคำสนองของทั้งสองฝ่ายถูกต้องตรงกันด้วย

สาระสำคัญของสัญญาจึงมี 3 ประการด้วยกันคือ

  1. ต้องมีบุคคลเป็นคู่สัญญาสองฝ่าย
  2. ต้องมีการแสดงเจตนาตรงกัน
  3. ต้องมีวัตถุประสงค์ หรือประโยชน์สุดท้ายที่คู่กรณีจะพึงมีพึงได้จากการเข้าทำสัญญากัน เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายอันก่อให้เกิดหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็จะต้องฟ้องร้องกันบังคับกันในทางแพ่งที่ศาลยุติธรรมเช่นที่ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด หรือศาลแขวงแล้วแต่กรณี

สัญญาทางปกครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเอกชน ได้กล่าวถึงแต่เฉพาะสัญญาเท่านั้น โดยมิได้กล่าวถึงสัญญาทางปกครองแต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือส่วนราชการ ที่มีการจัดทำสัญญาต่างๆขึ้นจึงได้ใช้สัญญาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ขึ้น ทำให้หลักการแนวคิดเรื่องสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้ได้ทั้งเอกชนและส่วนราชการดังกล่าวได้เปลี่ยนไป และมีคำว่าสัญญาทางปกครองเกิดขึ้นกับการจัดทำสัญญาของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็มิได้มีกฎหมายใดให้ความหมายของคำว่าสัญญาทางปกครองไว้ว่าหมายถึงสัญญาประเภทใด มีแต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ เท่านั้นที่ได้กล่าวถึงลักษณะของสัญญาทางปกครองไว้ว่า “สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลที่กระทำการแทนรัฐ และลักษณะที่เป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”

ดังนั้นหากสัญญาเข้าลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นสัญญาทางปกครองทั้งสิ้น และเมื่อมีการกระทำผิดสัญญาทางปกครอง จึงต้องฟ้องร้องที่ศาลปกครอง มิใช่นำไปฟ้องร้องที่ศาลยุติธรรม

  แบบเร่งรัดการปฏิบัติตามสัญญาพัสดุ
  แบบหนังสือทวงถามผู้ผิดสัญญา
  แบบสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาพัสดุ
  แบบสัญญารับทุนวิจัย
  แบบสัญญาเกี่ยวกับการลาศึกษา ฝึกอบรม
  แบบสัญญารับทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม
  แบบสัญญาการเป็นนักศึกษา
  แบบสัญญาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
  แบบสัญญาเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ
  แบบสัญญาอื่นๆ
  แบบฟอร์มการใช้สิทธิ
  มติ ครม./ระเบียบ/ประกาศ/คำสั่งเกี่ยวกับทำสัญญา